โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๔. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๙)

 

ระฆัง

 

 

          “หง่าง, หง่าง, หง่าง, หง่าง, หง่าง, หง่าง, หง่าง, หง่าง, หง่าง)

 

          ตื่นขึ้นเถอะพวกเราเหล่าพี่น้อง

แสงอุทัยไขส่องเรืองอร่าม

รุ่งอรุณนี้หรือคือเป็นยาม

อากาศสดงดวามแสนสบาย ...”

 

 

          ตอนหนึ่งของบทเพลง “ตื่นขึ้นเถอะ” บทประพันธ์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ที่ยกมาข้างต้น แสดงถึงบทบาทของเสียงระฆังกับนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย นับแต่ตื่นนอนไปจนเข้านอน

 

          แม้วชิราวุธวิทยาลัยจะมีอายุยืนยาวมากว่า ๑๐๐ ปี และเทคโนโลยีการให้สัญญาณจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่วชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงใช้ระฆังเป็นเครื่องบอกเวลาตลอดมา ไม่มีเปลี่ยนแปลง

 

          การที่วชิราวุธวิทยาลัยใช้เสียงระฆังเป็นสัญญาณบอกเวลานั้นก็เนื่องมาจากพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระมหากรุณาสถาปนาสถาบันการศึกษานี้ขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ในเมื่ออารามต่างๆ ล้วนมีธรรมเนียมลั่นระฆังเป็นสัญญาณเรียกประชุมสงฆ์ลงอุโบสถกระทำสังฆกรรมและบอกเวลา ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือปัจจุบันคือวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ลั่นระฆังป็นการให้สัญญาณเรียกประชุมครูและนักเรียนกับบอกเวลาเช่นเดียวกับธรรมเนียมปฏิบัติของคณสงฆ์

 

 

ระฆังเล็กบนหอประชุม

 

 

          ระฆังที่ใช้ในวชิราวุธวิทยาลัยมีอยู่ ๒ ใบๆ หนึ่งคือระฆังใหญ่ที่หอนาฬิกา ปกติระฆังใหญ่นี้จะลั่นเพียงวันละครั้งเวลา ๘.๓๐ น. ทุกวันจันทร์ - วันเสาร์ เป็นสัญญาณเรียกประชุมครูและนักเรียนขึ้นหอประชุมสวดมนต์ไหว้พระประจำวัน ส่วนวันอาทิตย์ลั่นระฆัง เวลา ๙.๐๐ น. เป็นการเรียกประชุมสวดมนต์ทำวัตรเช้าและสดับพระธรรมเทศนาหรือโอวาทแล้วแต่กรณี และในกาสที่มีการเรียกประชุมครูและนักเรียน เช่น ในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปี รวมทั้งการถือใบคะแนนในวันเสาร์สิ้นเดือน ฯลฯ

 

          ส่วนระฆังเล็กที่หอประชุมชั้นบน เป็นระฆังให้สัญญาณบอกเวลา ซึ่งในแต่ละวันมีการลั่นระฆังนี้ต่างกันวันละหลายเวลา เริ่มตั้งแต่

 

เวลา ๖.๓๐ น.

ระฆังปลุกตอนเช้า
เวลา ๗.๐๐ น. ระฆังสัญญาณเข้าเรียนชั่วโมงหรือคาบแรก
เวลา ๘.๐๐ น. เลิกเรียนชั่วโมงหนึ่งหรือคาบแรก
เวลา ๙.๐๐ น. สัญญาณเข้าเรียนชั่วโมงสอง
เวลา ๑๐.๐๐ น. หมดชั่วโมงเรียนที่สอง เริ่มชั่วโมงเรียนที่สาม
เวลา ๑๐.๕๐ น. เลิกเรียนชั่วโมงที่สาม พีกรับแระทานอาหารว่าง
เวลา ๑๑.๑๕ น. สัญญาณเข้าเรียนชั่วโมงที่สี่
เวลา ๑๒.๑๐ น. เลิกเรียนชั่วโมงที่สี่ เริ่มเรียนชั่วโมงที่ห้า
เวลา ๑๓.๐๐ น. เลิกเรียน กลับคณะรับประมาณอาหารกลางวัน
เวลา ๑๔.๐๐ น. เริ่มเรียนดนตรี หรือศิลปะ หรือเข้าเพรบกลางวัน
เวลา ๑๕.๐๐ น. เลิกเรียนดนตรี หรือศิลปะ หรือเลิกเพรบกลางวัน
เวลา ๑๕.๔๕ น. เข้าแถวกีฬาที่หน้าตึกวชิรมงกุฎ ตรวจนับยอดแล้วแยกย้ายกันไปเล่นกีฬา
เวลา ๑๘.๐๐ น. เลิกกีฬา
เวลา ๑๙.๐๐ น. เข้าเพรบกลางคืน
เวลา ๒๐.๔๕ น. สวดมนต์เข้านอน

 

          รูปแบบสัญญาณระฆังนั้นมี ๒ รูปแบบ แบบที่หนึ่งเป็นสัญญาณปลุกในตอนเช้าและสวดมนต์เข้านอน กับเป็นสัญญาณเข้าห้องเรียนและเรียกประชุมครูนักเรียน วิธีการลั่นระฆังแบบนี้ เริ่มจากลั่นระฆังครั้งละลูกแล้วเว้นระยะ แล้วเร่งจังหวะขึ้นตามลำดับจนถึงรัวระฆังในตอนท้าย แล้วจึงจบลงด้วยการลั่นครั้งละ ๒ ลูก รวม ๓ ครั้ง อีกแบบหนึ่งเป็นระฆังให้สัญญาณเลิกเรียนหรือลิกเพรบ เป็นการลั่นระฆัง ครั้งละ ๒ ลูก รวม ๓ ครั้ง

 

          นอกจากระฆังที่หอนาฬิกาและที่หอประชุมที่ให้อาณัติสัญญาณแก่ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนแล้ว คณะเด็กโตแต่ละคณะก็ยังมีระฆังเป็นเครื่องให้สัญญาณแก่นักเรียนในคณะ เช่น ระฆังเข้าแถวเดินไปรับประทานแต่ละมื้อ ระฆังเข้าเพรบและเลิกเพรบ ฯลฯ โดยหัวหน้าเวรแต่ละวันเป็นผู้รับผิดชอบตีระฆังให้สัญญาณในแต่ละวัน

 

 

พิมพ์เขียวระฆังสี่เหลี่ยมที่หอนาฬิกา

 

 

          เมื่อแรกตั้งโรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นยังไม่พบหลักฐานว่า ระฆังในยุคนั้นมีรูปแบบอย่างไรและแขวนไว้ที่ไหน แต่เมื่อออกแบบก่อสร้างหอนาฬิกาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นพบแบบระฆังที่หอนาฬิกาเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่เนื่องจากไม่มีงบประมาณจัดสร้างหรือมีอุปสรรคใดไม่ปรากฏ จึงไม่มีการหล่อระฆังตามแบบนั้นเลย จนเมื่อฉลองโรงเรียนครบ ๑๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ คณะนักเรียนเก่าฯ รุ่น ๔๓ ได้ร่วมกันออกทุนทรัพย์หล่อระฆังสี่เหลี่ยมตามแบบรูปโดยย่อส่วนลงเล็กน้อย เมื่อนำขึ้นไปแขวนที่หอนาฬิกาแล้วปรากฏว่า เสียงไม่ดัง

 

          กังวานเหมือนระฆังกลมใบเดิม จึงได้ปลดระฆังสี่เหลี่ยมนั้นลงไปเก็บไว้ที่หอประวัติโรงเรียน

 

 

ระฆังวัดที่คณะจิตรลดา

 

 

          ส่วนระฆังที่ใช้งานในโรงเรียนเป็นปกตินั้น ชั้นเดิมนั้นไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่า หล่อขึ้นเมื่อใดและหน่วยงานใดเป็นผู้รับผืดชอบการหล่อ ต่อมาในสมัยที่พระยาภะรจราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น มีหลักฐานว่า โรงเรียนได้ขอรับการสนับสนุนจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งมีความชำนาญการหล่อระฆังใช้ตามสถานีรถไฟทั่วประเทศเป็นผู้หล่อระฆังทองเหลืองให้โรงเรียนใช้แทนระฆังเดิมที่แตกชำรุด แต่ปัจจุบันอาจจะหาระฆังกลมแบบเดิมไม่ได้ เมื่อระฆังเดิมชำรุดบางคณะจึงต้องซื้อระฆังที่ใช้ตามวัดมาใช้งานแทน

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |