โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๕. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑๐)

 

ถือใบคะแนน

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้มีพระราชบันทึกแสดงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาในโรงเรียนไว้ตอนหนึ่งว่า

 

          “In the Royal Pages Colleges, what I want is not so much to turn out model boys, all of the same Standard, all brilliant “Madhayom” Scholars with thousands of marks each, as to turn out efficient young men, _ young men who will be physically and morally clean, and who will be looking forward keenly to take up whatever burden the future may lay upon them. _I do not want monument of learning who have passed all your exams with flying colours. I do not want a walking school books.”

 

          นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ได้แปลความในพระราชบันทึกดังกล่าวเป็นภาษาไทยไว้ดังนี้

 

          “สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน “ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้”

 

          แต่ในทางปฏิบัตินั้น กลับปรากฏหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญแก่การศึกษาเป็นอย่างมาก ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ มีความตอนหนึ่งว่า “ประเทศทั้งหลายย่อมเจริญได้ด้วยการศึกษา ประเทศใดปราศจากการศึกษาประเทศนั้นต้อง เป็นป่าเถื่อน”  ในขณะเดียวกันก็มักจะทรงกำชับให้ตั้งใจเล่าเรียน ดังตอนหนึ่งในพระราชดำรัสองค์เดียวกันนั้นว่า “ส่วนเด็กๆ เจ้ายังมีอายุอยู่ในระหว่างเล่าเรียนเจ้าจงตั้งใจเล่าเรียน เมื่อโตขึ้นจะได้เป็นคนดี มีวิชาความรู้สามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองของเจ้าได้มาก ไม่เสียทีที่เจ้าเกิดมาเป็นคนไทย”  ฉะนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของโรงเรียนเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา (๑ มกราคม) ซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในวันเสาร์ปลายเดือนธันวาคมของทุกปีนั้น ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีเสมอมาทุกปี

 

 

รางวัลเรียนดี พ.ศ. ๒๔๖๓

พระราชทานนักเรียนมหาดเล็กหลวง เสวตร โรจนเวทย์

 

 

          รางวัลเรียนดีที่โปรดเกล้าพระราชทานนั้นพระราชทานกันเป็นรายวิชา ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์และหนังสืออันทรงคุณค่า สำหรับผู้ที่มีผลการเรียนเป็นเลิศมักจะได้รับพระราชทานรางวัลเป็นนาฬิกาหรือสิ่งของมีค่าอื่นๆ

 

          นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เล่าว่า ตัวท่านเคยได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีในคราวเดียวกันหลายวิชา เมื่อนำรางวัลเรียนดีที่ได้รับพระราชทานเป็นหนังสือมาเรียงซ้อนรวมกัน ความสูงของกองหนังสือนั้นเกือบถึงเอวของท่านผู้เล่า

 

 

เข็มหมั่นเรียน

 

 

          ต่อมาในตอนปลายรัชสมัย กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งบังคับบัญชาโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ โรงเรียนพรานหลวง ได้มีดำริให้มีเข็มหมั่นเรียนเป็นรูปพระมนูแถลงสารติดบนแพรแถบสีขาบเป็นสัญลักษณ์หมั่นเรียนเพื่อพระราชทานเป็นรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีในแต่ละปี ใช้กลัดติดที่หน้าอกเป็นเกียรติยศของผู้ที่ได้รับพระราชทาน

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก และยุบรมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว ก็ไม่มีการพระราชทานเข็มหมั่นเรียนอีกเลย แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีองโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๕ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีต่อมาเป็นลำดับ

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พระราชทานรางวัลเรียนดี

 

 

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประทับทรงศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ และประเทศตกอยู่ในสภาวะสงครามจนโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงมิได้เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนจนตลอดรัชกาล ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. ๒๔๙๔ แล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาและพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีในแต่ละชั้นสืบมา แม้ในรัชกาลปัจจุบันก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นประจำทุกปีมา

 

          อนึ่ง นอกจากการพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมในแต่ละปีการศึกษาแล้ว ในสมัยที่พระยาภะรตราชา ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน วชิราวุธวิทยาลัยยังมีประเพณีส่งเสริมการเล่าเรียนของนักเรียน ด้วยการจัดให้มีการ “ถือใบคะแนน” สำหรับการสอบประจำเดือนและการสอบประจำภาค

 

 

ใบคะแนน พ.ศ. ๒๕๒๑

 

 

          “ใบคะแนน” เป็นแผ่นกระดาษยาวๆ สีขาว ตอนบนมีตราพระมนูแถลงสาร และข้อความระบุเดือนหรือภาคเรียน พ.ศ. ชื่อวิชา คะแนนเต็ม ชั้นเรียนและจำนวนนักเรียนในชั้นเรียนนั้นๆ ตอนล่างแบ่งเป็น ๓ ช่องๆ แรกทางซ้ายเป็นลำดับที่ที่สอบไล่ได้ ช่องกลางเป็นชื่อนามสกุล และช่องสุดท้ายเป็นคะแนนที่สอบได้ของแต่ละคน ท้ายรายชื่อนักเรียนเป็นลายมือชื่อครูประจำชั้น

 

          ใบคะแนนนี้เป็นเครื่องมือแสดงเกียรติคุณของนักเรียนแต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นเครื่องเตือนใจให้นักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อนได้ปรับปรุงตัว และเพื่อเป็นเกียรติแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้ที่ ๑ ของแต่ละห้อง ผู้ที่สอบได้ที่ ๑ นั้นจะได้รับเกียรติให้ถือใบคะแนนออกไปส่งให้ท่านผู้บังคับการในที่ประชุมครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนบนหอประชุมในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนก่อนกลับบ้าน ในสมัยผู้เขียนเป็นนักเรียนเมื่อห้าสิบปีก่อนและก่อนหน้านั้นจึงนิยมเรียกการนี้ว่า “ถือใบคะแนน” หรือเรียกอย่างสั้นว่า “ถือใบ”

 

          การถือใบคะแนนนี้โดยรูปศัพท์เป็นการให้ความสำคัญแก่นักเรียนผู้ได้รับเกียรติให้ถือใบคะแนน แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดปัจจุบันจึงกลับไปเรียกเป็น “ส่งใบคะแนน” ซึ่งความหมายกลับกลายเป็นให้ความสำคัญกับผู้รับใบคะแนน คือท่านผู้บังคับการแทน

 

          ในสมัยผู้เขียนเป็นนักเรียนเมื่อห้าสิบปีก่อน การถือใบคะแนนแต่ละครั้งนั้นเรียงกันไปเริ่มจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดลงไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นเล็กที่สุด โดยเรียงลำดับจากวิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และคะแนนรวม และในการถือใบคะแนนแต่ละคราวมักจะมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นเสมอๆ เช่น บางชั้นบางวิชาวิชามีนักเรียนสอบได้ที่ ๑ มีคะแนนเท่ากันตั้งแต่ ๑ คนหรือมากกว่า บางคราวถึงกว่า ๑๐ คน ก็ต้องใช้วิธีจับสลากให้ผู้โชคดีเพียงรายเดียวเป็นผู้ถือใบคะแนน และผู้โชคดีนั้นมักจะเป็นผู้รู้กันโดยทั่วไปว่า ผู้นั้นไม่เคยมีประวัติว่าเป็นนักเรียนเรียนดีมาตลอดชีวิตการเป็นนักเรียน หรือมีผู้ที่ไม่คาดคิดว่าจะได้ถือใบคะแนน เช่น นักเรียนคนหนึ่งเป็นเด็กฝรั่งผมทองมีบิดามารดาเป็นชาวอเมริกัน แต่ถือใบคะแนนวิชาภาษาไทย ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อมีนักเรียนที่ไม่เป็นที่คาดคิดถือใบคะแนนออกไปส่งให้ท่านผู้บังคับการจึงมักจะสร้างเสียงฮืฮาขึ้นในหมู่นักเรียนทั้งหลายที่ประชุมพร้อมกันอยู่บนหอประชุมเสมอๆ

 

          เสร็จการถือใบคะแนนแล้ว ท่านผู้บังคับการให้โอวาท ซึ่งโอวาททุกคราวมักจะเป็นการปลุกขวัญให้นักเรียนขยันหมั่นเรียนยิ่งๆ ขึ้น จบแล้วครูและนักเรียนร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นเสร็จพิธีต่างแยกย้ายลงจากหอประชุมกลับคณะและกลับบ้าน

 

          สำหรับใบคะแนนที่นักเรียนถืออกไปส่งให้ท่านผู้บังคับการนั้น โรงเรียนได้นำไปติดประกาศเรียงกันไว้ที่ข้างกระดานดำหน้าชั้นเรียนนั้นๆ ไปจนกว่าจะมีสอบครั้งต่อไปจึงจะปลดใบคะแนนของเดิมลง

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |