โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๗. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑๒)

 

ถ้วยทองของหลวง หรือ “ถ้วยทองนักรบ”

 

ถ้วยรางวัลพระราชทานสำหรับการแข่งขันฟุตบอลถ้วยแรกของประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของโรงเรียนนายเรือ

 

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้คราวนั้นแล้ว จึงได้ “ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีถ้วยทองขึ้นสำหรับเปนของรางวัลพระราชทานแก่ผู้ชนะในการแข่งขันด้วย เพื่อเปนเครื่องปลูกน้ำใจแก่ผู้เล่นทั้งหลาย, ให้มีความกระหายอยากได้ถ้วยทองรางวัลมาไว้เปนเกียรติยศและชื่อเสียงของคณะของกรม. เพื่อแสดงความปรากฏว่าเปนผู้ที่ได้ชื่อแล้วว่าเปนผู้มีความสามารถและความพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน.”  [] แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ “ตั้งต้นแข่งขันฟุตบอลคณะถ้วยทองของหลวงที่สนามม้าสวนดุสิต (สโมสรกลาง) ”  [], []  มาตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘

 

 

แผนที่เขตพระราชวังดุสิต พ.ศ. ๒๔๕๖

แสดงที่ตั้งสนามม้าสวนดุสิตซึ่งเป็นสนามแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวง

ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “สนามเสือป่า”

 

 

          การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวงหรือเรียกกันว่า “ถ้วยทองนักรบ” ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น มีหน่วยทหาร ตำรวจ และเสือป่า ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันรวม ๑๒ ชุด คือ

               ๑. กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร.

               ๒. กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.

               ๓. กรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์

               ๔. กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์

               ๕. กองเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์

               ๖. นักเรียนนายร้อยทหารบก

               ๗. นักเรียนนายเรือ

               ๘. กองเสือป่าเดินข่าวหลวง

               ๙. นักเรียนสารวัด

               ๑๐. นักเรียนราชแพทยาลัย

               ๑๑. นักเรียนเสือป่าหลวง

               ๑๒. กองเสนากลาง

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกคณะฟุตบอลถ้วยทองของหลวง

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยชุดฟุตบอลกรมเสือป่าม้าหลวง

ที่ได้ตำแหน่งที่ ๓ ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวงประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๘

 

 

          การแข่งขันจัดเป็นรอบๆ แต่ละรอบคัดชุดที่ชนะเข้าไปแข่งขันกันในรอบถัดไป จนที่สุดชุดโรงเรียนนายเรือได้คะแนนรวมสูงสุด ได้รับพระราชทานถ้วยทองหลวงไปครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ดังมีความปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันประจำวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า

 

          “เวลาบ่าย ๔ โมง ทรงรถยนตรพระที่นั่ง เสด็จสนามฟุตบอลสโมสร(กลาง)เสือป่า ประทับบนพลับพลายก ทอดพระเนตร์ฟุตบอลสำรับขาวคล่องเล่นจนเลิก ฝ่ายขาวได้ ๓ ฝ่ายแดงได้ ๑ แล้วโปรดพระราชทานถ้วยของหลวงในการแข่งขันแก่นักเรียนนายเรือซึ่งเป็นพวกชนะ โปรดพระราชทานรางวัลที่ ๑ แลแหนบสายนาฬิกาลงยามีพระมหามงกุฎ แก่นักเรียนนายเรือพวกชนะทุกคน กับพระราชทานรางวัลที่ ๒ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลก แก่กรมราบหลวง ร.อ. รางวัลที่ ๓ ของพระยาประสิทธิ์ศุภการ แก่กองม้าหลวง ร.อ. แล้วเสด็จประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ถ้วยทองของทหารเรือ กระบวนที่ ๑ มีรถยนตรสีทองแดงหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์เคยทรง แต่งด้วยดอกไม้สด แห่ถ้วยทอง มีรถตามประมาณ ๒๐ คัน กับแตรวงทหารเรือบรรเลงอีกคันหนึ่ง กระบวนที่ ๒ ทหารม้าแตรหมู่นำ รถเทียมม้าเทศ ๔ มีรถเทียมม้าเทศ ๒ อีก ๔ - ๕ หลัง คณะฟุตบอลม้าหลวงนั่ง กับอีกคันหนึ่งเป็นรถพิณพาทย์ กระบวนที่ ๓ ของกรมราบหลวง ร.อ. เป็นกระบวนเดินท้าว มีแตรวงนำกรมราบหลวง กองพรานหลวง กองเดินข่าวหลวง กองพันพิเศษ กรมนักเรียนเสือป่าหลวงแลนักเรียนมหาดเล็กเดินเป็นลำดับ กระบวนกลองยาวของกรมพรานหลวงอยู่รั้งท้าย

 

          เงินเก็บได้จากคนดูฟุตบอลนี้ นายกกรรมการฟุตบอลถ้วยทองของหลวง ส่งให้แก่สภากาชาด”  []

 

 

รถม้าหลวงในการแห่ถ้วยใหญ่ของกรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์

 

 

          จบการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองของหลวงประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมนักฟุตบอลจากสำรับต่างๆ จัดเป็นชุดฟุตบอลแห่งชาติสยามลงแข่งขันกับนักกีฬาชาวยุโรปชิงถ้วยราชกรีฑาสโมสร ซึ่งถือกันว่า เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติครั้งแรกในประเทศสยาม ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ดังมีบันทึกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า

 

 

 

ชุดฟุตบอลชาติสยามที่ลงแข่งขันประเพณีกับชุดราชกรีฑาสโมสร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

ซึ่ง ”ข่าวในพระราชสำนัก”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙)

ลงข่าวว่า “การแข่งขันยังไม่ชนะกัน จึงยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยในวันนี้”

นั่งแถวหน้าขวาสุด คือ พระปรีชานุสาสน์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้กำกับเส้นฝ่ายสยาม

 

 

          “เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาที ทรงเครื่องเสือป่ากรมม้าหลวง ทรงรถม้าพระที่นั่งเทียม ๔ เสด็จสโมสรราชกรีฑาประทุมวัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำรงค์ตำแหน่งเปนนายกพิเศษมาหลายปีแล้ว เข้าทางโรงเรียนสารวัด นาย เย.โคล ฟิลด์ เยมส์ นายกกรรมการราชกรีฑาสโมสรแลกรรมการคอยเฝ้าอยู่พร้อมกันแล้ว ประทับพลับพลายกซึ่งจัดขึ้นเปนพิเศษ ทำเปนเพิงน่าโขนเล็กๆ ตั้งพระเก้าอี้ทางน่าตะวันออกทอดพระเนตร์การแข่งขันฟุตบอลรหว่างชาติ ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายเข้าแถวรับเสด็จที่น่าพลับพลาแล้ว เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งลงมือเล่น... พอหมดเวลา รวมฝ่ายสยามได้ ๒, ฝ่ายยุโรปได้ ๑ จึงเปนอันว่าฝ่ายสยามชนะได้เห็นแถวเฝ้าอีกครั้ง ๑ คนดูต่างโยนหมวกตบมือโห่ร้องไชโยวิ่งตรงไปน่าพลับพลา โปรดพระราชทานถ้วยทองของราชกรีฑาแก่คณะฟุตบอลสยาม หม่อมเจ้าสิทธิพรรับพระราชทานต่อพระหัดถ์ แลพระราชทานเหรียญที่ระฤกเปนรางวัลแก่ฝ่ายชนะเรียงตัว คนดูซึ่งห้อมล้อมอยู่โห่ร้องไชโยทุกครั้งที่พระราชทาน ครั้นเสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง สมาชิกราชกรีฑาสโมสรปลดม้า แล้วพร้อมกันเข้าห้อมล้อมลากเข็นรถพระที่นั่ง ซึ่งกรรมการอัญเชิญเสด็จไปที่สโมสรที่สร้างขึ้นใหม่

 

          ในการแข่งขันฟุตบอลวันนี้... ผู้กำกับเส้นฝ่ายสยาม หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา)”  [], []

 

 
 
 

[ ]  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ). “ความเจริญแห่งฟุตบอล”, ดุสิตสมิต เล่ม ๑ (ฉบับพิเศษ สำหรับเปนที่ระฦกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา), หน้า ๔๓.

[ ]  คือ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต ปัจจุบันคือ สนามเสือป่าพระราชวังดุสิต

[ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

[ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

[ ]  ยืนขวาสุด

[ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ..ศ. ๒๔๕๘.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |