โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๒. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๗)

 

รับ - ส่ง เสด็จ

 

          ประเพณีสำคัญของยักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการไปรับ - ส่งเสด็จในโอกาสต่างๆ

 

          เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่นักเรียนมหาดเล็กหลวงประดุจบิดากับบุตร ดังที่ทรงกล่าวไว้ในพระราชดำรัสตอบในงานฉัตรมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิดายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ตอนหนึ่งว่า

 

          “เจ้าเหล้านี้ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า ธรรมดาพ่อกับลูก พ่อย่อมอยากให้ลูกดีเสมอ ถ้าลูกประประพฤติตัวดีสมใจพ่อ พ่อก็มีใจยินดี ถ้าลูกเหลวไหลประพฤติแต่ความเสื่อมเสีย พ่อก็โทมนัส ลูกคนใดประพฤติตนเลวทรามต่ำช้าเป็นเหตุให้พ่อได้ความโทมนัส ลูกคนนั้นเป็นลูกเนรคุณพ่อ”

 

 

นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยลูกเสือหลวง นักเรียนหาดเล็กหลวง และข้าราชบริพารฝ่ายทหารพลเรือน

ที่เชิงบันไดนาคมณฑปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

          อนึ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในเรื่องการจัดการศึกษามาแต่แรกโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลว่า “ฃ้าไม่เห็นด้วยในการที่คนรุ้นใหม่จะมุ่งแต่เปนเสมียนอย่างเดียว เพราะฉนั้นจึ่งอยากให้การศึกษาของเด็กเปนไปในทางอื่นๆ นอกจากการเรียนหนังสืออย่างเดียว”  [] ฉะนั้นในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนได้เล่าเรียนในห้องเรียนเช่นนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไปแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนได้ตามเสด็จไปในที่ต่างๆ ด้วยมีพระราชประสงค์

 

          “จะให้เด็กได้มีโอกาศรู้จักคุ้นเคยเฃ้าเจ้าเฃ้านายได้แต่เด็กอย่าง ๑ ประสงค์จะได้เฃ้าที่สมาคมอันดี เพื่อจะได้เปนประโยชน์แก่ตัวเด็กต่อไปภายน่าอย่าง ๑, ประสงค์ให้ได้เห็นเมืองไทยนอกจากบางกอก จะได้ไม่หลงไปว่าเมืองไทยหมดอยู่เพียงบางกอก ซึ่งจะทำให้คนกลายเปนกบอยู่ใต้กลาครอบอย่าง ๑ ฃ้ามีความประสงค์อยู่เช่นนี้เปนที่ตั้ง จึ่งได้ให้ยักเรียนของฃ้าตามเสด็จ โดยความเชื่ออยู่ในใจว่าจะเปนประโยชน์แก่ตัวเด็ก และจะนับเนื่องเฃ้าในการศึกษาของเด็กส่วน ๑ ก็ได้”  []

 

 

          นอกจากการตามเสด็จไปในสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นัก้รียนมหาดเล็กหลวงไปรับและส่งเสด็จในโอกาสต่างๆ เช่น ไปรับและส่งเสด็จในเวลาเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ในทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี หรือในโอกาสเสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในหัวเมืองที่มิได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนตามเสด็จไปด้วย ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนไปรับและส่งเสด็จเป็นประจำทุกคราว

 

          การไปรับและส่งเสด็จนี้ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงหลายท่านเล่าไว้ตรงกันว่า ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากที่ได้ทอดพระเนตรเห็น “เด็กในหลวง” และจะทรงแย้มพระสรวลแสดงความพอพระราชหฤทัยให้ทุกครั้ง และแม้นักเรียนจะเล่าเรียนจบไปจากโรงเรียนแล้ว ก็ยังพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ที่ได้ชื่อว่านักเรียนเก่าของโรงเรียนนี้ ให้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทตามควรแก่โอกาส แม้ผู้นั้นจะมิได้มีตำแหน่งเฝ้าเพราะมิได้เป็นข้าราชการ ก็ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนเก่าที่มิได้รับราชการนั้นแต่งเครื่องยศมหาดเล็กชั้นมหาดเล็กวิเศษ เพื่อจะได้เป็นผู้มีตำแหน่งเฝ้าได้เป็นพิเศษ

 

 

แถวนักเรียนและลูกเสือวชิราวุธวิทยาลัยในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

 

 

          นอกจากนั้นยังได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรมว่าด้วยจัดการพระบรมศพฉบับลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ให้นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์และลูกเสือได้ร่วมในกระบวนแห่พระบรมศพจากวัดพระเชตุพนไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง นับแต่นั้นมาจึงเป็นธรรมเนียมที่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยต้องเข้าร่วมในกระบวนแห่พระบรมศพและพระศพในการพระเมรุท้องสนามหลวงตลอดมาถึงปัจจุบัน

 

          ในรัชกาลต่อๆ มา นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงไปรับและส่งเสด็จในโอกาสต่างๆ เป็นประเพณีปฏิบัติต่อมา เช่น เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปหเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินออกจากประเทศไทยเป็นครั้งสุดท้ายนั้น นักเรียนเก่าอาวุโสหลายท่านเล่าไว้ตรงกันว่า คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้ไปตั้งแถวส่งเสด็จที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยยืนต่อจากแถวทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มาตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนผ่านแถวคณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้น หม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล และนักเรียนเก่าอาวุโสอีกหลายท่านเล่าไว้ตรงกันว่า ล้นเกล้าฯ ทรงชะโงกพระพักตร์ออกมานอกหน้าต่างรถยนต์พระที่นั่ง ทรงโบกพระหัตถ์ลานักรียนด้วยพระพักตร์ที่เศร้าหมองมีน้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์ คณะครูและนักเรียนที่ไปเฝ้าส่งเสด็จในวันนั้นต่างก็รู้สึกกันว่า คงจะไม่ได้เฝ้าทูลละอองธุลี-พระบาทอีกต่อไปแล้ว แล้วความรู้สึกนั้นก็เป็นความจริงในเวลาต่อมาด้วยมีประกาศจากรัฐบาลว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติแล้วเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

 

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์นั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประทับทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่ต่างประเทศ แม้จะเสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งคราว แต่ด้วยทรงมีพระราชภารกิจที่ต้องทรงปฏิบัติมาก ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นไม่เอื้ออำนวย นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงไม่มีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเช่นในรัชกาลก่อน จนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว จากนั้นก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่โรงเรียนตามคำกราบบังคมทูลเชิญเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล ทอดพระเนตรผลงานรวมทั้งการกรีฑาของนักเรียนเป็นประจำทุกปีแล้ว ในเวลาที่ว่างจากพระราชกรณียกิจก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาทรงซ้อมดนตรีและทอดพระเนตรนักเรียนแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่นักเรียนอยู่เป็นนิจ

 

          ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมิรู้เสื่อมคลาย ยามที่เสด็จพระราชดำเนินไปหรือกลับจากต่างประเทศหรือเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงถือเป็นหน้าที่ต้องไปรับและส่งเสด็จเป็นประจำเฉกเช่นที่เคยปฏิบัติมาในรัชกาลก่อนๆ นอกจากนั้นเมื่อมีพระราชอาคันตุกะเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้ไปรายทางรอรับและส่งเสด็จอยู่มิได้ขาด

 

 

นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในวาระแรกที่ทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

 

 

          ล่วงมาถึงรัชกาลปัจจุบัน เมื่อทรงรับสิริราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ แล้ว รุ่งขึ้นวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑ คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้รายทางรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ริมถนนราชดำเนินอกตามประเพณีด้วย

 

 
 
 

[ ]   พระราชหัตถลขาพระราชทานเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |