โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๔. ตึกเวสสุกรรมสถิต

 

          "เวสสุกรรม" เป็นนามของเทพแห่งวิศวกรรม คือ เทพเจ้าผู้มีหน้าที่หรือมีความสามารถในงานช่าง ตามตำนานต่าง ๆ เช่น ในไทยจะนับถือ พระวิศวกรรม หรือ หรือเรียกได้อีกหลายชื่อว่า พระวิศณุกรรม พระวิสสุกรรม พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม

 

          ตามตำนานกล่าวว่าเป็นโอรสของ "ภูวน" หรืออีกตำนานหนึ่งว่าเป็นโอรสของ "ประภาส" ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะวสุเทพบริวารของพระอินทร์ วสุเทพนี้มี ๘ องค์ด้วยกัน คือ ธร (ดิน) อาป (น้ำ) อนิล (ลม)อนล (ไฟ) โสม (เดือน) ธรุระ (ดาวเหนือ) ปรัตยุษ (รุ่ง) และประภาส (แสงสว่าง)

 

          ส่วนเทพแห่งวิศวกรรมของสากล หรือตามตำนานเทพโรมันจะนับถือ เทพวัลแคน ซึ่งเป็นเทพผู้สร้างงานปั้นศิลปะ อาวุธ เหล็ก ไฟ และเครื่องมือในการรบ เป็นที่นับถือในฐานะเทพแห่งอุตสาหรรมและการผลิต

 

          ลักษณะของพระวิษณุกรรมจะมีกายสีเขียว มีพระโลหิตเป็นสีเลือดหมู โพกพระเศียรด้วยผ้าขาว ทรงจำศีลและถือหางนกยูงเป็นเครื่องมือ เพื่อโบกปัดกวาดสิ่งที่ก่อสร้าง อย่างไรก็ตามมักพบรูปปั้นรูปหล่อหรือรูปเขียนของพระองค์ทรงถือผึ่งด้วยพระหัตถ์ขวา และทรงถือดิ่งด้วยพระหัตถ์ซ้าย คงเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแสดงให้มีความหมายตรงกับหน้าที่ของพระองค์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นบรมครูแห่งศิลปะการช่างเพราะผึ่งกับดิ่งนั้นเป็นเครื่องมือของช่างไม้ หรือคงเพื่อต้องการให้ตรงกับกำเนิดเดิมของพระวิษณุกรรมซึ่งเป็นนายช่างไม้ก็เป็นได้

 

          สำหรับนาม "ตึกเวสสุกรรมสถิต" ซึ่งเป็นนามของอาคารหนึ่งในวชิราวุธวิทยาลัยนั้น เป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้สำหรับอาคารเรียนวิชาศิลปะ

 

 

พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)

เมื่อครั้งเป็น รองหัวหมื่น พระราชดรุณรักษ์ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

 

 

 

          การเรียนวิชาศิลปะในวชิราวุธวิทยาลัยนั้น พบว่าเริ่มมีมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูเสริญ ปันยารชุน (พระยาปรีชานุสาสน์) ซึ่งสำเร็จการศึกษาวิชาครูช่างหัตถกรรมจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มาเป็นครูที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔

 

          การเรียนวิชาศิลปะตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการในยุคนั้น คือการเรียนวิชาหัตถศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นให้นักเรียนได้รับการฝึกทักษะการใช้สายตาและมือในการผลิตชิ้นงานต่างๆ ด้วยความประณีต ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนรู้ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของการศึกษา อันประกอบไปด้วย

 

          พุทธศึกษา คือ การเรียนรู้วิชาสามัญ

          จริยศึกษา คือ การเรียนรู้แลฝึกหัดกิริยามารยาท

          หัตถศึกษา คือ การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้วยสายตาและมือ

          พลศึกษา คือ การออกกำลังกายให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

          นับแต่พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า วชิราวุธวิทยาลัย ตราบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีมาแล้วนั้น วชิราวุธวิทยาลัยคงดำเนินการจัดการอบรมนักเรียนตามองค์ประกอบทั้ง ๔ นั้นมาโดยลำดับ

 

          กล่าวสำหรับการเรียนวิชาศิลปะในยุคโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น นอกจากการฝึกเต้นเขนยักษ์ เขนลิง อันเป็นรากฐานของวิชาโขนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงฝึกหัดเพื่อสืบทอดวิชาแขนงนั้นแล้ว ยังพบว่าในส่วนของวิชาศิลปะที่จัดสอนในเวลาเรียนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ประกอบไปด้วยวิชาช่างไม้ ช่างปั้นดินเผา และวิชาวาดภาพ

 

          สถานที่เล่าเรียนวิชาศิลปะในยุคโรงงเรียนมหาดเล็กหลวงต่อเนื่องมาจนถึงยุตก่อนตึกวชิรมงกุฎจะก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น คงจะเล่าเรียนกันอยู่ที่เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวสร้างมาแต่แรกย้ายโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งที่สวนกระจังนี้ใน พ.ศ. ๒๔๕๔

 

          เมื่อการก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎแล้วเสร็จ และย้ายสถานที่เรียนของนักเรียนขึ้นมาเล่าเรียนที่ตึกวชิรมงกุฎแล้ว โรงเรียนได้รื้อเรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวลงทั้งหมด

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนประสลภัยทางอากาศจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนต้องย้ายโรงเรียนไปเปิดสอนเป็นการชั่วคราวที่พระราชวังบางปะอิน แต่ก็เปิดสอนอยู่ได้ไม่นาน เครื่องบินรบฝ่ายข้าศึกก็ตามไปทิ้งระเบิดที่บางปะอินอีก เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนโรงเรียนจึงต้องปิดการสอนลงจนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘ และก่อนที่จะเปิดการเรียนอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา ได้จัดการบูรณะซ่อมแซมโรงเรียนซึ่งได้รับความเสียหายจากการที่ส่วนราชการยืมใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนเป็นที่ทำการ และใช้เป็นค่ายกักกันชนชาติศัตรู และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ท่านผู้บังคับการได้ตัดสินใจสร้างเรือนฝึกงานศิลปะขึ้นเป็นเอกเทศ แยกจากตึกวชิรมงกุฎซึ่งเป็นอาคารเรียนหลักของโรงเรียน

 

 

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงที่ตั้งโรงฝึกงานวิชาศิลปะในยุคแรกก่อสร้างช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

 

          โรงฝึกงานวิชาศิลปะที่สร้างขึ้นในสมัยพระยาภะรตราชานั้น เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังคามุงจาก ต่อมาจึงเปลี่ยนหลังคาเป็นมุงกระเบื้อง ตั้งอยู่ริมคูน้ำด้านทิศเหนือของโรงเรียน คู่กับ “เรือนจาก” ซึ่งเป็นโรงอาหารว่าง ต่อมาเมื่อมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ต่อเติมอาคารเรียนวิชาศิลปะออกทางทิศตะวันออก จนเกือบถึงด้านหลังคณะพญาไท

 

          เรือนไม้ที่เป็นโรงฝึกงานศิลปะนี้แบ่งเป็นห้องๆ เรียงจากทิศตะวันตกไปตะวันออก คือ ห้องพักครู ห้องเรียนงานปั้น ห้องเรียนงานไม้ และในช่วงเตรียมการรับเสด็จในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีที่เรียกกันว่า "งานกรีฑา" นั้น โรงฝึกงานศิลปะนี้ก็ถูกใช้เป็นกองอำนวยการจัดสร้างฉากการแสดงในงานกรีฑาไปด้วย

 

          ในสมัยพระยาภะรตราชานั้น นักเรียนที่มิได้เลือกเรียนดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง จะต้องมาเรียนวิชาศิลปะ คือ งานปั้นหรืองานไม้ ในช่วงเข้าเพรบกลางวัน คือ ช่วงเลา ๑๔.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. ตามเวรที่กำหนด ส่วนวันที่ไม่ได้เรียนวิชาศิลปะก็ต้องเข้าเพรบทำการบ้านหรือทบทวนวิชาที่เล่าเรียนอยู่ที่คณะ

 

          ผลงานของนักเรียนทั้งงานปั้นดินเผาและงานไม้ที่ได้กระทำกันมาตลอดทั้งปีนั้น ครูวิชาศิลปะจะรวบรวมและนำไปจัดแสดงบนตึกวชิรมงกุฎในงานกรีฑา โดยคุณครูศิลปะซึ่งเป็นผู้นำเสด็จทอดพระเนตร

 

 

ทอดพระเนตรผลงานศิลปะของนักเรียนในงานกรีฑา

 

 

          ผลงานของนักเรียนจะเป็นผู้กราบบังคมทูลเบิกนักเรียนผู้สร้างผลงานชิ้นที่โดดเด่นให้นำผงานนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ส่วนผลงานอื่นๆ ที่จัดแสดงในแต่ละปี เมื่อสิ้นสุดงานกรีฑาแล้ว ก็จะรวบรวมไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน

 

          โรงฝึกงานวิชาศิลปะที่ริมคูน้ำด้านทิศเหนือนี้ ได้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมาจนถึงปีการศึกษา ๒๕๔๒ คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้อนุมัติให้รื้อถอนโรงฝึกงานศิลปะเดิม พร้อมกับมอบหมายให้ บริษัท สำนักงานโฟร์เอส จำกัด เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรม การออกแบบ และเทคโนโลยีขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม เป็นตึก ๓ ชั้น รูปทรงสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์เพื่อให้สอดรับอาคารเดิมของโรงเรียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิติภัค ก่อสร้าง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และเอฟ เอ คอนสตรัคชั่น แอดมินิสเตรชั่น เป็นผู้ควบคุมงาน ในวงเงินค่าจ้างเหมารวมทั้งสิ้น ๓๑,๕๐๐,๕๐๐ บาท

 

 

ตึกเวสสุกรรมสถิต

 

 

          การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารเรียนศิลปกรรมหลังใหม่นี้ว่า "ตึกเวสสุกรรมสถิต" และได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |