โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๓. หอเรียนวิชาวิทยาศาสตร์

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการ แต่เพิ่มวิชามหาดเล็กเป็นพิเศษ เพื่อให้นักเรียนมีทั้งความรู้วิชาสามัญและเรียนรู้การปฏิบัติหน้าที่มหาดเล็กสำหรับการปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาไปจากโรงเรียนแล้ว

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งมีการจัดหลักสูตรการศึกษาของประเทศเป็น ประถม, มัธยม และอุดมศึกษา โดยในระดับประถมและมัธยมศึกษานั้นแบ่งซอยออกเป็น

 

          ชั้นประถม ๓ ปี คือ ประถมปีที่ ๑ - ๓

          ชั้นมัธยมต้น ๓ ปี คือ มัธยมปีที่ ๑ - ๓

          ชั้นมัธยมกลาง ๓ ปี คือ มัธยมปีที่ ๔ - ๖

          ชั้นมัธยมปลาย หรือมัธยมบริบูรณ์ คือ มัธยมปีที่ ๗ - ๘

 

          โรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรหลวงตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ จนถึงมัธยมปีที่ ๘ แต่ในระยะแรกการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาดังกล่าวนั้น ปรากฏหลักฐานว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะของโรงเรียนว่าสูงกว่าของโรงเรียนรัฐบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕

 

          ส่วนการเรียนการสอนในชั้นมัธยมปลายหรือมัธยมบริบูรณ์ ซึ่งในสมัยนั้นเปิดสอนเฉพาะแผนกกลาง กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้การรับรองวิทยฐานะของโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมปีที่ ๗ ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงว่าเทียบเท่าการเรียนการสอนของโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งในเวลานั้นโรงเรียนของรัฐบาลเองก็ยังจัดการเรียนการสอนได้เพียงชั้นมัธยมปีที่ ๗ เท่านั้น ทั้งนี้เพราะขาดแคลนทั้งครูผู้สอนและนักเรียนที่จะเล่าเรียน

 

          เหตุที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้การรับรองวิทยฐานะของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ เห็นจะเป็นเพราะสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตระหนักถึงประโยชน์ของการศึกษา ดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ว่า "ธรรมดาชาติไม่ว่าชาติใด ชาติเล็กหรือชาติใหญ่ ต้องอาศัยผู้ที่เกิดขึ้นใหม่ที่จะบำรุงชาติให้ถาวรแลให้เจริญต่อไป"  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างอาจารย์ปริญญาจากต่างประเทศมาเป็นครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และเมื่อโรงเรียนขยายการสอนถึงชั้นมัธยมปลาย ซึ่งตามหลักสูตรกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในภาคปฏิบัติ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักพญาไทที่เดิมเป็นที่ประทับใน

 

 

หนังสือรับรองวิทยฐานะโรงเรียนราษฎร์ที่เลขาธิการคณะกรรมข้าราชการพลเรือน

ส่งให้ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชพลเรือนกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐

 

 

พระตำหนักสมเด็จ หอเรียนวิชาวิทยาศาสตร์หลังแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ให้เป็นหอเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นเป็นโรงเรียนลำดับแรกๆ ของประเทศไทยที่มีห้องปฏิบัติการวิชาวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนใช้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีการยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงรักษามาตรฐานการเรียนการสอนตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาจนมีการยุบเลิกการเรียนการสอนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนสามัญตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่กำหนดให้โรงเรียนสามัญเปิดสอนเพียงชั้นมัธยมปีที่ ๖ ส่วนนักเรียนที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาก็ให้ไปศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหรือเตรียมมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น เตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เตรียมแพทยยศาสตร์ เตรียมนายร้อย เตรียมนายเรือ ฯลฯ

 

          อนึ่ง เนื่องจากโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนชั้นมัธยมปลายมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ อีกทั้งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางราชการได้ยืมใช้สถานที่ของโรงเรียนเป็นที่ทำการของส่วนราชการบางหน่วย รวมทั้งเป็นค่ายกักกันชนชาติศัตรู ในช่วงเวลานี้จึงปรากฏว่า ทรัพย์สินของโรงเรียนได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งคงจะรวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่สูญหายไปมากในช่วงเวลานั้น

 

          ดังนั้นเมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษา ให้โรงเรียนสามัญกลับมาเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมปลายอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยกำหนดให้โรงเรียนชายเปิดสอนเฉพาะแผนกวิทยาศาสตร์ ส่วนโรงเรียนสตรีคงได้รับอนุญาตให้เปิดสอนเฉพาะแผนกอักษรศาสตร์ และวชิราวุธวิทยาลัยได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนในชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๑ - ๒ (ชั้นมัธยมปีที่ ๗ - ๘ เดิม) อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็ได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะแผนกวิทยาศาสตร์ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเท่าที่มีเหลืออยู่

 

          ต่อมาในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะทรงเจริญพระชันษาครบ ๓ รอบนักษัตรในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้มีพระปรารภด้วยพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยที่จะทรงสร้างถาวรวัตถุพระราชทานไว้ในวชิราวุธวิทยาลัยตามพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาจึงได้กราบทูลให้ทรงทราบว่า โรงเรียนมีความต้องการหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๓

 

 

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะทรงวางศิลาฟกษ์ตึกเพชรรัตน

 

 

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๔๖๐,๐๐๐ บาท ให้โรงเรียนจัดสร้างหอเรียนวิทยาศาสตร์ขึ้นทางด้านทิศใต้ของตึกวชิรมงกุฎ กับได้พระราชทานเงินรายได้จากการจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วง อีก ๑๘๐,๐๐๐ บาทเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับตึกนั้น เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอเรียนวิทยาศาสตร์นี้ว่า "เพชรรัตน" และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทรงเปิดตึกเพชรรัตนนี้ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียน เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕

 

 

ตึกเพชรรัตน (ขวา) และตึกสุวัทนา (ซ้าย)

 

 

          ตึกเพชรรัตนนี้เป็นตึกสองชั้น วชิราวุธวิทยาลัยได้ใช้ตึกนี้ชั้นบนเป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้นมัธธยมศึกษาปีที่ ๕ ส่วนชั้นล่างห้องด้านทิศเหนือจัดเป็นห้องบรรยายวิชาเคมีและฟิสิกส์ ส่วนห้องชั้นล่างด้านทิศใต้เป็นห้องเรียนปฏิบัติการวิชาเคมี

 

          แต่เนื่องจากการเรียนการสอนตามแผนการศึกษาชาติ ๒๕๐๓ นี้ การเรียนการสอนแผนกวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก โรงเรียนจึงต้องปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ทันแก่ยุคสมัย แต่หอเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะพระราชทานไว้แก่โรงเรียนแล้วหลังหนึ่ง ก็ยังหาพอแก่การเรียนการสอน วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้รวบรวมเงินค่าลิขสิทธิ์บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้แก่โรงเรียนมาใช้เป็นทุนในการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียน แล้วรวมรวมผลกำไรจากการจัดจำหน่ายอุปกรณ์การศึกษานั้นมาเป็นทุนจัดสร้างหอเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีกหลังหนึ่ง โดยได้ทูลขอให้นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบจัดสร้างอาคารเรียนวิทยาศาสตร์หลังใหม่ทางด้านทิศใต้ของตึกเพชรรัตน เพื่อใช้เป็นห้องบรรยายและห้องปฏิบัติการวิชาชีววิทยา กับมีห้องปฏิบัติการอัดล้างขยายภาพของสมาคมถ่ายรูป ส่วนชั้นบนใช้เป็นห้องเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

 

          เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนวิทยาศาสตร์หลังใหม่ ซึ่งเรียกกันว่า "ตึกวิทยาศาสตร์" นี้แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตึกนี้ในวันพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียน เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ต่อมาในคราวฉลองอายุวชิราวุธวิทยาลัยครบ ๑๐๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ โรงเรียนได้ขนานนามตึกวิทยาศาสตร์นี้ใหม่ว่า "ตึกสุวัทนา" โดยมีที่มาจากพระนามของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ และพระชนนีในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

          ปัจจุบันวชิราวุธวิทยาลัยยังคงใช้ตึกเพชรรัตน และตึกสุวัทนา เป็นอาคารเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายสืบมา

 

 
 

 

[ ]  "พระราชดำรัสตอบเนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙", พระบรมราโชวาท กับ วชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๘๓ - ๘๕.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |