โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๕. เรือนจาก

 

"เรือนจาก" (ในวงกลมแดง) ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตึกรามจิตติหลังใน

 

 

          นอกจากโรงฝึกงานวิชาศิลปะที่ริมลำคูด้านเหนือของโรงเรียนแล้ว ในแนวเดียวกับโรงฝึกงานศิลปะนั้นยังมีอาคารไม้ขนาดย่อมชั้นเดียวเป็นอาคารชนิดเปิดโล่ง มีลูกกรงระเบียงรอบอีกหลังหนึ่ง นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในยุคพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ต่อเนื่องมาจนถึงยุคผู้บังคับการศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ แศรเสนา ณ อยุธยา จะรู้จักเรือนนี้ในนาม "เรือนจาก" เพราะเมื่อแรกสร้างอาคารนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรือนนี้มีสภาพเป็นเรือนหลังคาจาก และแม้ว่าจะเปลี่ยนหลังคาจากเป็นหลังคากระเบื้องลอนแล้ว นักเรียนก็ยังคงเรียกเรือนนี้ว่าเรือนจากต่อมา

 

          มูลเหตุของการสร้างเรือนจากนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามแบบพับลิคสกูลของอังกฤษ ฉะนั้นโรงเรียนจึงรับเอาขนบประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในพับลิคสกูลของอังกฤษมาใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนมหาดเล็กหลวง ดังเช่น “การกินน้ำชาบ่าย” ซึ่งปรากฏใน "การประจำวันตามเวลาปกติของโรงเรียน" ในระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งระบุไว้ว่า "บ่าย ๔ โมงครึ่ง กินน้ำชาบ่าย แล้วออกเล่นในสนาม"

 

          วัฒนธรรมการกินน้ำชาบ่ายนี้คงมีอยู่ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเนื่องมาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นตารางเรียนของนักเรียนในห้องเรียนของนักเรียนยังอยู่ในช่วงวันจันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๒.๐๐น แล้วพักรับประทานอาหารกลางวัน เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๓๐ น. กลับเข้าห้องเรียน เวลา ๑๕.๔๕ น. เลิกเรียนแล้ว นักเรียนเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นชุดกีฬา ถึงเวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นเวลากินน้ำชาบ่าย

 

          แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปรีชานุสาสร์ (เสริญ ปันยารชุน) มาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๕ ท่านผู้บังคับการพระยาปรีชานุสาสน์ได้ปรับเวลาเรียนในห้องเรียนเป็นวันจันทร์ - เสาร์ เริ่มจากเวลา ๗.๐๐ - ๘.๐๐ น. แล้วพักรับประทานอาหารเช้า เข้าเรียนต่อในช่วงเวลา ๙.๐๐ ไปจนถึง ๑๓.๐๐ น. จึงเลิกเรียน แล้วรับประทานอาหารกลางวัน แล้วเข้าเพรบเพื่อทำการบ้านและทบทวนการเรียน หรือทำกิจกรรมอื่นตามที่โรงเรียนกำหนด ออกจากเพรบแล้วเป็นเวลากีฬาไปจนเย็น การรับประทานอาหารว่างยามบ่ายที่เรียกว่า "กินน้ำชาบ่าย" แบบอังกฤษ จึงหายไปจากวชิราวุธวิทยาลัยตั้งแต่บัดนั้น

 

          เมื่อไม่มีอาหารว่างให้รับประทานในยามบ่าย นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในยุคผู้บังคับการพระยาปรีชานุสาสน์ต่อเนื่องมาจนถึงยุคพระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิน) จึงต้องฝากท้องไว้กับ "ขนมปังไส้ไก่" ของ "แม่เนื่อง" ภรรยาคนงานที่บ้านพักริมสนามหลัง (บริเวณที่เป็นที่ตั้งอาคารอัศวพาหุในปัจจุบัน)

 

 

เรือนจากที่ริมคูน้ำด้านทิศเหนือ มองเห็นร้านเจ๊กเฉ่าทางด้านขวาของภาพ

 

 

          ต่อมาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาได้จัดให้นักเรียนมีช่วงพักรับประทานอาหารว่างในระหว่างคาบเรียนที่ ๓ และ ๔ หรือระหว่างเวลา ๑๐.๕๐ - ๑๑.๑๕ น. ของวันจันทร์ - เสาร์ และช่วงหลังจากสวดมนต์ทำวัตรเช้าในวันอาทิตย์

 

          อาหารว่างที่กลายเป็นอาหารมื้อหลักของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในช่วงเวลานั้น มีทั้งข้าวราดแกงเจ๊กโย่ง ก๋วยเตี่ยวลูกชิ้นน้ำใส ขนมปังต่างๆ ที่ขึ้นชื่อเห็นจะได้แก่สโนว์บอล์ ซึ่งเป็นขนมปังก้อนมีไส้แยมสตอเบอร์รี่เคลือบผิวด้วยน้ำตาลไอซ์ซิ่ง ส่วนน้ำดื่มนั้นมีน้ำอัดลมยี่ห้อไบร์เลย์และอาร์ซี โคล่า ยืนพื้น ร้านขายน้ำอัดลมนั้นเป็นห้องมีบานปิดมิดชิดอยู่ทางด้านปลายเรือนจากด้านทิศตะวันตกริมสระน้ำ คนขายน้ำอัดลมนั้นชื่อ นายเชาว์ แต่นักเรียนนิยมเรียกว่า "เจ๊กเฉ่า" เพราะหน้าตาแกจัดอยู่ในประเภทบอกบุญไม่รับ นอกจากนั้นเจ๊กเฉ่ายังมักจะสร้างศัตรูกับนักเรียนด้วยเหตุที่ไม่ยอมให้นักเรียนซื้อน้ำอัดลมหรือขนมเป็นเงินเชื่อ เพราะมักจะทวงถามไม่ได้

 

 

กิจกรรมถล่มเจ๊กเฉ่าตอนปลายปีการศึกษา

(ภาพวาดผลงาน ไตรธวัช ศีติสาร รุ่น ๔๖)

 

 

          ด้วยอัธยาศัยที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับนักเรียนนี้เอง เจ๊กเฉ่าจึงมักจะถูกลงโทษ ด้วยคำสั่งของหัวหน้านักเรียนให้นักเรียนงดเว้นการอุดหนุนสินค้าของเจ๊กเฉ่า จนเจ๊กเฉ่ายอมอ่อนข้อให้ทุกอย่างจึงกลับมาเหมือนเดิม แต่ปฏิบัติการจองเวรของนักเรียน ที่ถ่ายทอดเป็นพันธุกรรมต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น คือช่วงปลายปีการศึกษาของทุกปีจะมีประเพณี "ปาเจ๊กเฉ่า" ในยามวิกาล คือการน้ำก้อนหินไปปาหลังคาเรือนจากในเวลากลางดึก เพื่อล่อให้เจ๊กเฉ่าซึ่งนอนเฝ้าสินค้าอยู่ในร้านออกมาวิ่งไล่นักเรียนซึ่งเป็นกองหน้า จากนั้นนักเรียนที่เป็นกองหลังก็จะบุกเข้าโจรกรรมน้ำอัดลมและขนมออกจากร้านเจ็กเฉ่าเป็นเช่นนี้ทุกปี บางปีขนลังน้ำอัดลมไม่ทันก็ใช้วิธีโยนลงไปในคูน้ำข้างเรือนจาก ซึ่งเมื่อจะสร้างตึกรามจิตติหลังนอกคร่อมลงไปบนคูน้ำติดกับเรือนจากเก่านั้น คนงานในโรงเรียนเล่าให้ฟังว่า พอสูบน้ำออกแล้วพบน้ำอัดลมหลายลังที่ยังไม่ได้เปิดดื่มจมอยู่ในโคลน

 

 

อาคารอินดอร์สเตเดียมหลังเก่า อาคารทางขวาคือ ตึกประชาธิปก

 

 

          เมื่อเรือนจากในตำนานนั้นถูกรื้อทิ้งไปใน พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อก่อสร้างอาคารโสตทัศนูปกรณ์หรือปัจจุบันคือ ตึกรามจิตติหลังในแล้ว โรงอาหารหรือที่เรียกกันติดปากว่า เรือนจากได้ย้ายไปอยู่ที่เรือนไม้เก่า ริมคูน้ำด้านทิศใต้ทางด้านหลังโรงยิมเก่า เมื่อรื้อโรงยิมเก่าเพื่อสร้างตึกประชาธิปกจึงย้ายโรงอาหารว่างไปปลูกสร่งเป็นเรือนชั่วคราวที่ด้านหลังอาคารอินดอร์สเตเดียวหลังเดิม

 

          แต่เพราะเจ๊กเฉ่านั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์คู่กับเรือนจากมาช้านาน นอกจากนักเรียนจะเรียกโรงอาหารว่างเรือนจากซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมแล้ว ในระยะหลังยังมีคำเรียกขานว่า "เจ๊กเฉ่า" แล้วกร่อนมาเป็น "เฉ่า" เพียงพยางค์เดียว จนในที่สุดคำว่าเรือนจากก็หายไปจากสารบบของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และมีคำว่า "เฉ่า" มาแทนที่ในความหมายของโรงอาหารว่าง

 

          ภายหลังจากที่โรงเรียนรื้ออาคารอินดอร์สเตเดียวหลังเก่าลง แล้วสร้างอาคารอินดอร์สเตเดียมหลังใหม่ขึ้นแทนที่ ก็ได้ผนวกเอาโรงอาหารว่างเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินดอร์สเตเดียมหลังใหม่ แต่นักเรียนก็ยังคงเรียกโรงอาหารว่างนี้ว่า "เฉ่า" ต่อๆ กันมา งมีแต่นักเรียนเก่ายุคพระยาภะรตราชาเท่านั้นที่ยังเรียกโรงอาหารว่างนั้นว่า "เรือนจาก" แม้เรือนจากนั้นจะแปรสภาพเป็นตึกหลังใหญ่ไปแล้วก็ตาม

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |