โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๖. สนามและอาคารกีฬา (๑)

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ประทับพลับพลายกข้างหอประชุมในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในรัชกาล ในวโรกาสนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทถึงหลักการอบรมนักเรียนในปับลิคสกูลของอังกฤษว่า

 

          "การกีฬาเป็นของสำคัญที่สุด การเล่นเกมเขาออกจะกวดขันยิ่งเสียกว่าการเล่าเรียน เขาเห็นประโยชน์ของการเล่นกีฬามาก เพราะว่าการกีฬานั้นมีประโยชน์ทางหัดนิสสัย โรงเรียนอังกฤษมุ่งฝึกหัดนิสสัยยิ่งกว่าสิ่งใดหมด การเล่นเกมนั้นทำให้กำลังบริบูรณ์ และกล้าหาญเราก็ย่อมทราบกันอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นยังมีผลยิ่งขึ้น ด้วยเกมที่เลือกนั้นมักต้องเลือกเกมที่ต้องเล่นหลายคน เช่น ฟุตบอลล์ คริกเก็ต เป็นต้น เพื่อจะฝึกให้เด็กรู้จักการรักเหล่ารักคณะให้รู้จักช่วยเพื่อน การเล่นเกมไม่ใช่เล่นแต่ตัวคนเดียว ให้นึกถึงส่วนใหญ่ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวคนเดียว เช่น เล่นฟุตบอลล์ไม่ควรแย่งชูตโกล์แต่ตัวคนเดียว ตรงกันข้ามถ้าเห็นคนอื่นอยู่ในที่ดีกว่าเราต้องส่งลูกไปให้ นี่ฝึกหัดให้รู้จักประโยชน์ของส่วนใหญ่ยิ่งกว่าพยายามแสดงความเก่งของตัวคนเดียว เรื่องเล่นเกมนี้เขากวดขันที่สุดต้องเล่นเกมให้ถูกข้อบังคับจริงๆ และจะโกงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงมีศัพท์ที่เมืองอังกฤษว่า คนไหนที่มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตทำอะไรตรงไปตรงมาเขาเรียกว่า เป็นผู้รู้จักเล่นเกม He plays the game. นี่เป็นศัพท์ที่อังกฤษใช้เสมอ แปลว่าเล่นเกมถูกต้อง รู้จักรักและนึกถึงการช่วยเหลือเพื่อนของตน ไม่ใช่เอาเปรียบ เป็นของสำคัญมากเป็นการอบรมนิสสัยอย่างดี ในโรงเรียนนี้หวังว่าครูจะตั้งใจอบรมให้นักเรียนที่นี่เป็นผู้มีนิสสัยรู้จักเล่นเกม การอบรมอย่างนี้อังกฤษถือว่าทำให้ชาติอังกฤษเป็นชาติที่รุ่งเรืองมีอำนาจใหญ่โตในโลกได้จนมีประเทศราชทั่วไปทั้งโลก เพราะเหตุว่ามีนิสสัย "รู้จักเล่นเกม" นี้เอง แม่ทัพสำคัญของอังกฤษ คือ ดุ๊ค ออฟ เวลลิงตัน ที่เป็นผู้ชนะพระเจ้านะโปเลียนที่ ๑ ในการยุทธ์ที่วอเตอร์ลูนั้น ได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้าชนะการยุทธ์ที่วอเตอร์ลูบนสนามกีฬาของโรงเรียนอีตัน" หมายความว่าที่เขามีคุณวุฒิจนชนะการยุทธ์สำคัญคราวนั้นได้เพราะความอบรมที่รับมาจากโรงเรียนเป็นต้น เพราะการอบรมเหล่านี้เป็นทางฝึกหัดอบรมนิสสัยอย่างสำคัญทางหนึ่ง ฉะนี้เองสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจึ่งได้มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้ฝึกหัดอบรมให้คล้ายคลึงกับปับลิคสกูลของอังกฤษมากที่สุดที่จะเป็นได้ ข้าพเจ้าหวังใจว่านักเรียนในโรงเรียนนี้ทั้งปวงคงจะตั้งใจประพฤติตนให้เป็นผู้ "รู้จักเล่นเกม" อย่างที่ได้อธิบายมานี้ และในที่สุดขอให้พรให้บรรดานักเรียนทั้งนักเรียนใหม่และเก่าจงมีความสุขสบายปราศจากโรคภัย จงมีสติปัญญาไหวพริบให้สามารถเล่าเรียนได้ดี และจะได้ประกอบการงานให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองของตนต่อไปเทอญ."  []

 

 

แผนที่ท้ายโฉนดที่ดินสวนกระจังที่พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          อนึ่ง ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจัดการอบรมนักเรียนตามแนวทางของปับลิตสกูลอังกฤษ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสวนกระจังซึ่งเดิมเป็นท้องร่องสวนให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียนแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) จางวางช่างโยธามหาดเล็กเป็นแม่กองขุดดินเป็นสระน้ำแล้วนำดินที่ขุดได้นั้นมาถมเป็นสนามกีฬาให้นักเรียนได้ใช้เป็นที่ออกกำลังกาย

 

 

ผังแสดงสถานที่จะก่อสร้างหอสวดและตึกนอนนักเรียน (ตึกคณะ) กับพื้นที่ที่จะจัดเป็นสนามกีฬา

เมื่อแรกพระราชทานที่ดินสวนกระจังเป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          สนามกีฬาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในแรกตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ปรากฏเป็นสนามขนาดใหญ่ทางด้านทิศเหนือของหอสวดหรือหอประชุม ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า "สนามหน้า" และต่อมาเมื่อจะก่อสร้างตึกวชิรมงกุฎเป็นตึกเรียน และรื้อเรือนไม้หลังคามุงจากซึ่งเป็นอาคารเรียนชั่วคราวที่ด้านหลังคณะจิตรลดาออก ก็มีโครงการที่จะปรับพื้นที่ด้านใต้หอประชุมเป็นสนามกีฬาอีกสนาม แต่ยังมิทันได้เริ่มปรับปรุงก็เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง โรงเรียนถูกตัดงบอุดหนุนที่กระทรวงศึกษาธิการเคยทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือเพียงปีละ ๓๖,๐๐๐ ยาท ต่อด้วยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้มาขอใช้พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่ตั้งเรือนพักชนชาติศัตรู และเมื่อสงครามสงบลงโรงเรียนก็ได้ใช้อาคารชั่วคราวนี้เป็นคณะดุสิตแทนตัวคณะที่ถูกระเบิดของฝ่ายสัมพมิตรทำลายไปในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อคณะดุสิตใหม่ก่อสร้างแล้วเร็จและย้ายนักเรียนไปอยู่ที่ตึกใหม่แล้ว พื้นส่วนนี้ก็ถูกทิ้งว่างอยู่อีกเกือบสิบปี จนการสร้างอาคาร "วชิราวุธานุสรณ์ ๒๕๑๓" เป็นอาคารกีฬา "อินดอร์สเตเดียม" แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๔ พื้นที่ส่วนนี้จึงได้ปรับเป็นสนามกีฬาอีกสนามหนึ่ง เรียกกันว่า "สนามข้าง" มาจนปัจจุบัน

 

 

แผนผังที่ดินสวนกระจังที่พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

รวมทั้งส่วนที่พระราชทานเพิ่มเติมเป็นสนามกีฬา ที่เรียกกันว่า "สนามหลัง"

 

 

          อนึ่ง เมื่อแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินสวนกระจังให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น อาณาบริเวณของโรงเรียนมีอยู่เพียงริมคลองเปรมประชากรด้านหน้าหอประชุม กับคณะจิตรลดาและคณะพญาไท ไปจนจรดคูน้ำจากด้านหลังคณะผู้บังคับการไปจนถึงคณะดุสิต (ปัจจุบันคูน้ำนี้ถูกถมไปหมดแล้ว) ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้พระราชทานที่ดินบริเวณหลังโรงรถยนต์หลวงให้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อทำเป็นสนามฟุตบอล และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้กรมศิลปากรจัดการถมพื้นที่เดิมซึ่งเป็นท้องร่องสวน "...ยาว ๒๑๗ เมตร์ กว้าง ๑๔๔ เมตร์ ถมสูงจากระดับหลังร่องสวน ๕๐ เซนติเมตร ถมในท้องร่องกว้างและลึก ๑ เมตร์ ตลอดทั้งร่องยาวทั่วไป ๑๐๔๑๖ ตรางเมตร์ ถมสูงจากหลังร่องทั่วไป ๓๑๒๔๘ ตรางเมตร์ ถมสูง ๕๐ เซนต์..." [] ด้วยเถ้าแกลบ และเนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้อยู่ด้านหลังโรงเรียนเดิม นักเรียนจึงเรียกสนามส่วนนี้ว่า "สนามหลัง" มาจนบัดนี้

 

          ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงไฟฟ้าหลวงสามเสนที่ศรีย่าน ริมถนนสามเสนถูกระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับความเสียหาย ทางราชการจึงได้ย้ายโรงไฟฟ้าหลวงพร้อมคลังน้ำมันมาตั้งที่ทำการที่สนามหลัง อันเป็นเหตุให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรตามมาทิ้งระเบิดจนตึกคณะดุสิตพังทลาบลงไป ๒ หลัง คงเหลือแต่เพียงตึกเล็กด้านทิศใต้เพียงตึกเดียว และเมื่อสงครามสงบลงโรงไฟฟ้าหลวงย้ายกลับไปที่ตั้งเดิม แต่สนามหลังนั้นถูกทิ้งไว้ในสภาพที่ทรุดโทรม พื้นสนามเป็นหลุมเป็นบ่อ เวลาเล่นกีฬาวิ่งๆ ไปอาจตกหลุมได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว ยิ่งเวลาฝนตกมีน้ำขังสภาพสนามก็กลายเป็นปลัก แต่เนื่องจากงบประมาณที่โรงเรียนได้รับจากพระคลังข้างที่ในแต่ละปีมีจำกัด ในขณะที่ต้องบูรณะซ่อมแซมอาคารที่เริ่มชำรุดทรุดโทรม สนามหลังจึงถูกทิ้งให้เป็นปลักต่อมาอีกนับสิบปี จึงได้รับการบูรณะให้กลับสู่สภาพสนามกีฬาที่สมบูรณ์ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา มาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว

 

 
 

 

[ ]  พระบรมราโชวาทพระราชทานในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |