โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๒. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ()

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องเต็มยศจอมพล จอมทัพบกสยาม

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า "องค์กรรมการที่ปรึกษาซึ่งได้ตั้งแต่งขึ้นไว้ ตามความในประกาศลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยนัยแห่งมาตรา ๑๐ และ ๑๑ แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น บัดนี้ร่วงโรยขาดจำนวนไปไม่ครบตามพระราชบัญญัติ สมควรจะยกเลิกข้อความตามประกาศนั้นเสีย และตั้งกรรมการขึ้นใหม่" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังพระนามและนาม ดังนี้

 

          จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนางคบดี เป็นคณาธิบดี

          นายพันโท พระอาสาสงคราม (ต๋อย หัสดิเสวี) โยธิน เป็นเลขาธิการ

          นายพลเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน มหาโยธิน เป็นที่ปรึกษา

          นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร มหาโยธิน เป็นที่ปรึกษา

          นายพลเอก หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร มหาโยธิน เป็นที่ปรึกษา

          นายพลโท หม่อมเจ้าอลงกฎ ศุขสวัสดิ์ มหาโยธิน เป็นที่ปรึกษา

          นายพลตรี พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีบ) โยธิน เป็นที่ปรึกษา

 

          คณะกรรมการที่ปรึกษาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นใหม่นี้ได้ประชุมปรึกษาความชอบและได้มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้แก่นายทหารในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพียงครั้งเดียว และเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว คณะที่ปรึกษาบางพระองค์ได้เสด็จไปประทับต่างประเทศ บ้างก็สิ้นพระชนม์ จึงมีกรรมการที่ปรึกษาไม่ครบจำนวนที่จะประชุมปรึกษาความชอบและไม่มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีต่อมาอีกเลย ตราบจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันโดยความยินยอมและเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่รัฐสภา ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดี พ.ศ. ๒๕๐๓" เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติเดิมให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย โดยพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้ถวายพระราชอำนาจให้ "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้" [] นอกจากนั้นยังกำหนดให้ "เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร" [] แล้ว จึงได้มีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้อีกครั้ง

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทรงนำสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

 

          ต่อมาในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี กับผู้ที่ได้รับพระราชทานใหม่ในวันนั้น ประชุมถวายสัตย์ปฏิญาณรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นครั้งแรกที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีถือน้ำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และต่อมาในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกครั้งหนึ่ง

 

          อนึ่ง เนื่องจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดียวของไทยที่พระมหา กษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชทรงสละพระราชอำนาจที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตามพระราชอัธยาศัย หากแต่พระราชทานตามความเห็นของคณะที่ปฤกษา จึงมีเรื่องเล่าแปลกๆ เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ กล่าวคือ นอกจากนายทหารและนายสิบที่ไปในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป (สงครามโลกครั้งที่ ๑) แล้ว ยังมีนายทหาร นายเสือป่าและข้าราชการพลเรือนบางพระองค์และบางคนที่แม้จะมิได้ไปในงานพระราชสงคราม หากแต่มีส่วนร่วมในการจับกุมและยึดทรัพย์สินชนชาติศัตรูในคราวประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตามลำดับชั้นความชอบ นอกจากนั้นยังมีนายทหารต่างประเทศที่ได้ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ได้รับพระราชทานอีกจำนวนหนึ่ง

 

 

นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา - พลเอก พระยาเทพหัสดิน)

หัวหน้ากองทูตทหารในงานพระราชสงคราม ณทวีปยุโรป

 

 

          แต่นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้ากองทูตทหาร ซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นหัวหน้ากองทูตทหารกรือแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสยามไปในงานพระราชสงครามครั้งนี้ กลับไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ทั้งที่เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงสนิทสนมคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์ และได้มีพระราชกระแสเป็นการลับให้เขียนรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของทหารไทยรวมทั้งสถานการณ์ต่างๆ ในสมรภูมิทวีปยุโรปส่งตรงเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นการส่วนพระองค์ ส่วนรายงานที่เป็นทางราชการนั้นก็คงให้ส่งเข้ามาถวายผ่านทางกระทรวงกลาโหม เรื่องนี้คงเป็นปริศนาที่ไม่อาจหาคำตอบได้จนถึงบัดนี้

 

          นอกจากนั้นในการสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ยังมีข้อที่เนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสถิติที่ไม่เหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆ ของไทย ดังพอจะหยิบยกขึ้นกล่าวถึงได้ดังนี้

 

          ๑) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนี้ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งเป็นวันที่ ๖ ของปี เพราะในมัยนั้นเริ่มปีใหม่กันในวันที่ ๑ เมษายน

 

          ๒) เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มี ๔ ชั้น กับเหรียญอีก ๒ประเภท รวมกันแล้วได้ ๖ ชั้น หมายถึง รัชกาลที่ ๖

 

          ๓) สีของสายสะพายและแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นสีดำ อันเป็นสีประจำวันเสาร์ซึ่งเป็นวันพะบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนริ้วสีแดงที่ริมขอบทั้งสองข้างนั้นหมายถึงโลหิตของทหารที่พร้อมสละชีวิตเพื่อรักษาอิสภาพและบำรุงความรุ่งเรืองของชาติ

 

          ๔) เป็นเพียงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดียวที่มีการพระราชทานประดับที่ยอดธงไชยเฉลืมพลของหน่วยทหาร คือ

 

          โยธิน พระราชทานประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลกองทหารบกรถยนต์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒

 

          เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร พระราชทานประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลกองพันทหารราบที่ ๑ กองพันทหารราบที่ ๒ แลพกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

 

          ๕) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลเดียวที่พระราชทานให้แก่เสียชีวิตมากที่สุด

 

          ๖) ลายกลางในดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ทรงกำหนดไว้เป็นภาพพระปรศุมาวตารปราบพญาการตวีรยะ ซึ่งพระปรศุมาวตารตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ลิลิตนารายณ์สิบปาง คือ พระนารายณ์อวตาร ปางที่ ๖ ที่ได้อวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญของชาวโลก เปรียบได้กับภาพฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดและพระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตฉบับพิเศษสำหรับเป็นที่ระลึกในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นภาพนายทหารไทยยืนเหยียบอกนายทหารเยอรมันคล้ายกับลายที่ทรงกำหนดไว้ในดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

 

 

 


[ ]  "พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. ๒๕๐๓", ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ ตอนที่ ๖๐ (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๓), หน้า ๔๗๖ - ๔๘๑.

[ ]  ที่เดียวกัน.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |