โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี ()

 

 

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร)

ปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ

 

 

          นอกจากกิจการดนตรีไทยที่ทรงสนับสนุนและส่งเสริมมาแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระประดิษฐ์ไพเราะ (เอวัน วาระศิริ) [] รวบรวมนักดนตรีไทยมาฝึกซ้อมเครื่องดนตรีสากลจนสามารถรวบรวมเป็นวงเครื่องสายฝรั่งหลวงหรือวงดุริยางค์สากล (Symphony Orchestra) วงแรกของภาคพื้นเอเชีย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายขุนเจนรัถรถจากกรมรถไฟหลวง มาประจำวงเครื่องสายฝรั่งหลวง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามและนามสกุลเป็นไทยว่า "ปิติ วาทยกร" ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเจนดุริยางค์และพระเจนดุริยางค์ ปลัดกรมกองเคื่องสายฝรั่งหลวงตามลำดับ

 

          วงเครื่องสายฝรั่งหลวงนี้ ได้ออกโรงบรรเลงเพลงคลาสสิคหน้าพระที่นั่ง ณ โรงโขนหลวงสวนมิสกวันอยู่เสมอ ทั้งยังได้ร่วมกับชาวต่างประเทศที่มีความสามารถทางดนตรีคลาสสิคจัดแสดงมหาอุปรากรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามและภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ เริ่มจากอุปรากรเรื่อง คาเวลาเรีย รัสติคาน่า และได้จัดแสดงเรื่องอื่นๆ ต่อมาอีกหลายคราวตราบจนสิ้นรัชสมัย ในตอนปลายรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "ศาลานรสิงห์" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "กาแฟนรสิงห์" ขึ้นที่สนามเสือป่า ตรงมุมพระลานพระราชวังดุสิต ด้านถนนศรีอยุธยา ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ยกวงเครื่องสายฝรั่งหลวงมาบรรเลงเพลงประเภทไลท์มิสิคที่ "ศาลานรสิงห์" เป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐ - ๑๙.๐๐ น. ซึ่ง "ในวันนั้นบรรดาชาวต่างประเทศและผู้มียวดยานนำมาจอดฟังการบรรเลงดนตรีกันเป็นแพแน่นขนัด การขายเครื่องดื่มและเครื่องยิโภคในวันนั้นจะมีรายได้สูงมาก พวกเดินโต๊ะก็ได้ทิปกระเป๋าตุ่ยไปตามๆ กัน" []

 

 

วงเครื่องสายฝรั่งหลวง

 

 

          การแสดงดนตรีที่ศาลานรสิงห์นี้ นอกจากจะทำให้นักดนตรีในวงเครื่องสายฝรั่งหลวงได้มีโอกาสฝึกฝีมือและออกแสดงเป็นประจำทุกวันโดยมีรายได้พิเศษตอบแทนแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนพรานหลวงที่ได้เล่าเรียนมาทางดนตรีสากลได้มีโอกาสฝึกฝีมือและออกแสดงตามควรแก่โอกาสด้วย

 

          นอกจากวงเครื่องสายฝรั่งหลวงแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการจัดตั้งแตรวงขึ้นในหน่วยทหารต่างๆ และสำหรับแตรวงประจำกรมทหารบกม้าที่ ๑ รักษาพระองค์นั้น โปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นแตรวงบนหลังม้าเป็นวงแรกของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และได้เริ่มบรรเลงนำขบวนในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นครั้งแรก และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว แตรวงบนหลังม้านี้ก็ได้ถูกยุบเลิกไป แต่จะเป็นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

 

 

กองแตรวงกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์

บรรเลงนำขบวนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          อนึ่ง เมื่อทรงต้องกองเสือป่าขึ้นแล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งแตรวงประจำกรมกองเสือป่าด้วย แต่สำหรับกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วประดุจกองทหารม้านั้นโปรดให้ "วิ่งเหยาะ" ในเวลาสวนสนามแทนการเดินเช่นกรมกองเสือป่าอื่นๆ ทั้งยังได้มีพระราชดำริที่จะจัดให้มี “วงปี่สก๊อต” สำหรับบรรเลงนำแถวเสือป่าพรานหลวงในเวลาสวนสนามอีกด้วย แต่พระราชประสงค์ดังกล่าวไม่สามารถเกิดมีขึ้นได้ในรัชสมัยเพราะไม่สามารถหาครูผู้สอนได้ แตรวงกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์จึงต้องบรรเลงเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ในเวลาที่เสือป่าพรานหลวงสวนสนามสืบมาตราบจนสิ้นรัชสมัย

 

          ในส่วนพระองค์นั้นนอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้พระสุจริตสุดา พระสนมเอก จัดตั้งวงมโหรีหญิงล้วนขึ้นในพระราชสำนักแล้ว ยังได้พระราชทานคำแนะนำให้คุณสุมิตรา (สิงหลกะ) สุจริตกุล คุณข้าหลวงเดี่ยวเปียโนเพลงไทยถวาย โดยใช้มือซ้ายบรรเลงฆ้องวง ส่วนมือขวาบรรเลงทำนองซอหรือระนาด และในเวลาที่ประทับ ณ พระราชวังพญาไทในตอนปลายรัชกาลนั้น คุณสุมิตรา สุจริตกุล ได้กรุณาเล่าไว้ว่า เสวยพระกระยาหารเย็นเสร็จแล้วมักจะเสด็จประทับ ณ ห้องพิพิธภัณฑ์ ภายในพระที่นั่งพิมานจักรีชั้นบน โปรดให้ท่านผู้เล่าบรรเลงเดี่ยวเปียโนถวายตามวิธีการที่ทรงแนะ บางคราวก็โปรดให้บรรเลงเปียโนร่วมกับวงดนตรีไทยของพระสุจริตสุดา

 

          นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการวางรากฐานและการส่งเสริมกิจการดนตรีทั้งไทยและสากลแล้ว ยังได้พบหลักฐานอีกว่า เมื่อแรกเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้ทรงร่วมแสดงละครพูด เรื่อง "ปล่อยแก่" ของนายบัว วิเศษกุล ในงานฉลองพระชนมายุครบ ๒๖ พรรษา ณ โรงละครทวีปัญญา ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์ โดยทรงรับบทเป็นหลวงเกียรติคุณครรชิต ทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องพระราชทานแก่ละครเรื่องนี้ไว้ถึง ๑๔ เพลง คือ

 

๑) เพลงเขมรโล้เรือ

เออผู้ชายไม่วายเป็นเจ้าชู้ ฯลฯ

๒) เพลงทองย่อน

อยู่เดียวเปลี่ยวอกอนาถหนาว ฯลฯ

๓) เพลงโยนดาบ

ผมขอบใจขอบใจที่ไมตรี ฯลฯ

๔) เพลงธรณีร้องไห้

โอ้ว่าอกเอ๋ยอกถนอม ฯลฯ

๕) เพลงสี่บท

ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน ฯลฯ

๖) เพลงปี่แก้วน้อย

ครานั้นพระไวยวิไลยโฉม ฯลฯ

๗) เพลงสร้อยเพลง

ช่างกระไรใจหายเสียดายลูก ฯลฯ

๘) เพลงแป๊ะ

เจ้าอยู่เดียวเปลี่ยวอกฟกอนาถ ฯลฯ

๙) เพลงลมพัดชายเขา

รื่นกลิ่นลำดวนชวนเชย ฯลฯ

๑๐) เพลงขึ้นพลับพลา

โฉมงามทรามสุดสวาทพี่ ฯลฯ

๑๑) เพลงชาตรี

แม้สามารถจำแลงแปลงกาย ฯลฯ

๑๒) เพลงโอ้โลม

พิศพิศน่าประโลมโฉมเฉลา ฯลฯ

๑๓) เพลงลาวสมเด็จ

แสนจะเปรมปรีดายุพาพาล ฯลฯ

๑๔) เพลงแขกบรเทศ

พุทธานุภาพนำผล ฯลฯ

 

          เพลงพระราชนิพนธ์ที่สำคัญในเรื่องปล่อยแก่ ซึ่งต่อมาได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นบทร้อง "ให้พรทั่วไป" ของนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วได้พระราชทานให้กระทรวงธรรมการเผยแพร่ไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร คือ เพลง "แขกบรเทศ" ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

 

          "พุทธานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลน้อยใหญ่
เทวาอารักษ์ทั่วไป ขอให้เป็นสุขสวัสดี
          ธรรมนุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลเสริมศรี
เทพช่วยรักษาปราณี ให้สุขสวัสดีทั่วกัน
          สังฆานุภาพนำผล เกิดสรรพมงคลแม่นมั่น
เทเวศร์คุ้มครองป้องกัน สุขสวัสดิสรรพทั่วไป ฯ"

 

          ต่อจากนั้นเมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องสำหรับเพลงต่าง ๆ ไว้ในบทละครพระราชนิพนธ์อีกมาก ดังที่ได้มีผู้รวบรวมบทพระราชนิพนธ์ซึ่งมีผู้นิยมนำไปขับร้องประกอบทำนองเพลงไทยถึง ๓๖ เพลง ดังนี้

 

๑) เพลงพัดชา

เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ฯลฯ

๒) เพลงสร้อยเพลง

ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง ฯลฯ

๓) เพลงฝรั่งรำเท้า

เพราะฉะนั้นชวนกันสวามิภักดิ์ ฯลฯ

๔) เพลงฝรั่งรำเท้า

อันพวกเราหญิงชายทั้งหลายไซร้ ฯลฯ

๕) เพลงสร้อยสนตัด

เสียแรงเกิดมาอย่าเสียที ฯลฯ

๖) เพลงแขกบรเทศ

พุทธานุภาพนำผล ฯลฯ

๗) เพลงตวงพระธาตุ

อันกำหนดกฎหมายทั้งหลายไซร้ ฯลฯ

๘) เพลเวสสุกรรม

ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ฯลฯ

๙) เพลงขอมกล่อมลูก

เอาพระคุณไตรรัตน์กระพัดจิต ฯลฯ

๑๐) เพลงวิลันดาโอด

สาวน้อยจงจำคำข้าสอน ฯลฯ

๑๑) เพลงฝรั่งควง

ลูกนี้จะจำคำมารดา ฯลฯ

๑๒) เพลงต้อยตริ่ง

สูเอยจะสนุก

๑๓) เพลงทองย่อน

อยู่เดียวเปลี่ยวอกอนาถหนาว ฯลฯ

๑๔) เพลงทองย่อน

ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด ฯลฯ

๑๕) เพลงขึ้นพลับพลา

โฉมงามทรามสุดสวาทพี่ ฯลฯ

๑๖) เพลงแขกมอญ

แลดูอรุณไขแสง ฯลฯ

๑๗) เพลงพราหมณ์เข้าโบสถ์

อนึ่งพึงจำคำสอน ฯลฯ

๑๘) เพลงปี่แก้ว

ขอเชิญนางโฉมเฉลาเยาวภา ฯลฯ

๑๙) เพลงปี่แก้วน้อย

โฉมเฉลาเยาวภาอย่าเฉลียว ฯลฯ

๒๐) เพลงคลื่นกระทบฝั่ง

อันโดรเมดาสุดาสวรรค์ ฯลฯ

๒๑) เพลงบังใบ

ได้ยินคำสำเนียงเสียงเสนาะ ฯลฯ

๒๒) เพลงแขกสาหร่าย

ถ้าแม้เลือกได้ตามใจพี่ ฯลฯ

๒๓) เพลงแขกสาหร่าย

อ้าลมหนาวพัดอ้าวไม่ร้ายสู้ ฯลฯ

๒๔) เพลงแขกหนัง

ผู้ใดมีอำนาจวาสนา ฯลฯ

๒๕) เพลงจีนหน้าเรือ

อั๊วเป็นจีนซิวิไลซ์ใคไม่ลู้ ฯลฯ

๒๖) เพลงโยสลัม

ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า ฯลฯ

๒๗) เพลงตะนาวแปลง

เมื่อสายัณห์ตะวันจะยอแสง ฯลฯ

๒๘) เพลงจีนต้องเชียง

เจ๊กฉิหลาดหนักหนาอย่าลูหมื่ง ฯลฯ

๒๙) เพลงสามเส้า

เป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก ฯลฯ

๓๐) เพลงสร้อยเพลง

โอ้ว่าดวงใจอยู่ไกลลิบ ฯลฯ

๓๑) เพลงลีลากระทุ่ม

พิศดูมาลีที่ในสวน ฯลฯ

๓๒) เพลงลมพัดชายเขา

อันมาลีแม้มีแสนสดใส ฯลฯ

๓๓) เพลงสะสม

รื่นกลิ่มลำดวนชวนเชย ฯลฯ

๓๔) เพลงลาวสมเด็จ

แสนจะเปรมปรีดายุพาพาล

๓๕) เพลงยานี

อันนารีเรานิยมชมโฉม ฯลฯ

๓๖) เพลงแขกมอญ

อันบุคคลใดใดถึงใหญ่หลวง ฯลฯ

 
 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวรศิริศุภเสวี

[ หุ้มแพร หลวงวิเศษธีระการ (เธียร วรธีระ). , หน้า ๓๖ - ๓๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |