โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๕. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี (๓)

 

 

          นอกจากบทร้องสำหรับทำนองเพลงไทยแล้ว ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง วิวาหพระสมุท ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องประกอบทำนองเพลงออนวาร์ด คริสเตียน โซลเยอร์ (Onward Christian Soldier) ซึ่งเป็นทำนองเพลงสวดในโบสถ์ของฝรั่ง พระราชนิพนธ์บทร้องนี้จึงมีเนื้อหาไปในทำนองสวดอ้อนวอนขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้

 

          อ้าองค์พระทรงฤท- ธิมหิทธิดลกินทร์
ทรงรังฟ้าและรังดิน นรชาติรังสรรค์
ทรงสร้างสัตว์ดิรัจฉาน และประทานชีวัน
ทรงสร้างพืชผลาพรร- ณ ประดิษฐพฤกษา
ขอพรองค์พระโลเกศ สุรเดชทรงอา-
นุภาวะประสาทสา- ระพัดเพิ่มพูนผล ฯ

 

          อนึ่ง นักเรียนเก่าพรานหลวงมนตรี ตราโมท ยังได้เล่าถึง "เพลงญี่ปุ่น" ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ "ท้าวแสนปม" ตอนเสี่ยงทายให้กษัตริย์ชาติต่างๆ หาอาหารมาให้พระราชนัดดา เพื่อหาตัวบิดาของพระราชนัดดาไว้ว่า "ดนตรีได้บรรเลงออกภาษาต่างๆ พอถึงภาษาญี่ปุ่น ดนตรีทำไม่ได้ พระองค์จึงทรงต่อให้ ครั้นพอถึงท่ารำ พระยานัฏกานุรักษ์ก็ทำท่ารำไม่ได้ พระองค์ก็ทรงสอนให้ นับว่าพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมากทั้งท่ารำและดนตรี"  [] นอกจากนั้นนักเรียนเก่าพรานหลวงมนตรี ตราโมท ยังได้กล่าวถึงพระราชนิพนธ์บทร้องที่ได้พระราชทานเป็นเพลงประจำโรงเรียนและกรมกองเสือป่าต่างๆ อีกว่า

 

            "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระเยาว์มีพระนามว่า "พระองค์โต" ดังนั้นเพลงประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  [] ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกของพระองค์ท่าน ถือเป็นโรงเรียนสำคัญของพระองค์ จึงใช้เพลง "สิงโตเล่นหาง" อันมีคำว่า "โต" ตรงกับพระนามของพระองค์ท่าน ส่วนโรงเรียนราชวิทยาลัย  [] ทรงใช้เพลง "ขึ้นพลับพลา" เพราะคำว่าราชวิทยาลัย แปลว่า โรงเรียนของพระมหากษัตริย์ คำว่าพลับพลาก็แปลว่า ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ส่วนเสือป่าต่างๆ มีเสือป้าหลวง เสือป่าพานหลวง เสือป่าปืนใหญ่หลวง และเสือป่าราชนาวี โดยมาเสือป่าม้าหลวง เป็นผู้ประจำอยู่ในกรมราชพาหนะ มีรถม้า รถอะไรต่างๆ จึงทรงใช้เพลง "สารถี" เพราะเสือป่าม้าหลวงมีผู้ขับรถม้าด้วย เพลงสารถีจึงเป็นเพลงที่เหมาะสม เสือป่าพรานหลวง เป็นโรงเรียนทหารกระบี่มาก่อน ทหารกระบี่ไม่ใช่ทหารที่มีกระบี่ห้อย แต่หมายถึงทหารลิงของพระราม ทรงใช้เพลงมีเนื้อร้องว่า "ข้าเจ้าพลหาญกรมพรานหลวง ทั่วทั้งปวงปานพลกระบี่ศรี" หมายความว่า เหมือนพลกระบี่ของพระราม เพราะฉะนั้นพรานหลวงก็คือกระบี่ กระบี่ คือดาบ จึงทรงใช้เพลง "โยนดาบ" เป็นเพลงประจำของนักเรียนพรานหลวง เสือป่าปืนใหญ่หลวง คำว่า "ใหญ่" เปรียบถึงช้างได้ จึงทรงใช้เพลง "ช้างประสานงา" ส่วนเสือป่าราชนาวี ร้องเพลง "เขมรโล้เรือ" เช่นนี้ก็เป็นที่เหมาะสม เพราะราชนาวีก็ต้องเพลงเขมรโล้เรือ เหล่าวิเสสก็มีเพลงประจำเหมือนกัน แต่แปลกอยู่หน่อยเพราะเหล่าวิเสสมีอยู่ ๓ เหล่า ๓ กองด้วยกัน คือ กองเดินข่าว กองช่าง และกองพาหนะ เพราะฉะนั้นเหล่าวิเสสจึงให้ร้องเพลง "สามเส้า""  []

 

          ถึงแม้นจะเป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาแก่นักดนตรีไทยเป็นอเนกประการก็ตาม แต่ก็ทรงมีวิธีการลงโทษนักดนตรีที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างแปลก ดังที่เล่ากันต่อๆ มาว่า วันหนึ่งในระหว่างเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ขณะประทับแรมที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้น เสวยพระกระยาหารค่ำแล้วเสด็จลงพระที่นั่งพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ทรงเล่นละครปริศนา "ดัมแครมโบ" (Dumb Crambo) ร่วมกับข้าราชบริพาร ดัมแครมโบที่โปรดให้เล่นในคืนนั้น เป็นลิเกปริศนา เมื่อลิเกร้องจบลง พิณพาทย์จะต้องบรรเลงรับ แต่ตืนนั้นมีรับสั่งว่า "ไม่ต้อง" แล้วโปรดให้พวกที่แสดงลิเกทำเพลงด้วยปาก ให้นักดนตรีนั่งนิ่งๆ จนลิเกปริศนานั้นจบลง เมื่อเสด็จขึ้นแล้วบรรดานักดนตรีวงตามเสด็จที่ต้องรับพระราชอาญาให้นั่งเฉยๆ ในคราวนั้นต่างก็กล่าวถึงเหตุที่ต้องรับพระราชอาญาในคราวนั้นว่า น่จะเป็นเพราะพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) และหลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) ซึ่งเป็นคนตีระนาดเอกลาไปงานบวชนายบุญธรรม ตราโมท [] ซึ่งเป็นผู้ตีระนาดทุ้มคู่กับหลวงพวงสำเนียงร้อย (นาค วัฒนวาทิน) จึงทำให้คืนวันนั้นไม่มีผู้ตีระนาดที่ทรงคุ้นหน้า และต้องเลื่อนนายพริ้ง ดนตรีรส ซึ่งปกติเป็นคนตีกลองแขกอยู่แถวหลังขึ้นไปตีระนาดแทน

 

          ในส่วนพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่นักดนตรีทั้งในและนอกพระราชสำนักนั้น ก็ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ ราชทินนามและเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นักดนตรีตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล ทั้งยังได้ทรงคิดราชทินนามพระราชทานแก่นักดนตรีเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก รวมกับของเดิมที่มีอยู่ ๔ ชื่อ คือ ประสานดุริยศัพท์, ประดับดุริยกิจ, ประดิษฐ์ไพเราะ และเสนาะดุริยางค์แล้ว จึงมีราชทินนามสำหรับนักดนตรีในทำเนียบของกรมมหรสพในรัชสมัยนั้นถึงเกือบ ๖๐ นาม ดังนี้

 

ประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์), พระยา เจ้ากรม

ประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน), พระ ปลัดกรม

ประดิษฐ์ไพเราะ (เอวัน วาระศิริ) [] , พระ ปลัดกรม

                      (ศร ศิลปบรรเลง), หลวง ปลัดกรม

เสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน), พระยา ผู้ช่วย

สำอางค์ดนตรี (พลบ สุอังคะวาทิน), พระ ผู้ช่วย

ศรีวาทิต (อ่อน โกมลวาทิน), หลวง

สิทธิ์วาทิน (สาย อังสุวาทิน), หลวง

พิณบรรเลงราช (แหยม วีณิน) [] , หลวง

                     (แย้ม ประสานศัพท์), หลวง

พาทย์บรรเลงรมย์ (พิมพ์ วาทิน), พระ

ประสมสังคีต (ป่วน สุนทรนัฏ), หลวง

ประณีตวรศัพท์ (เขียน วรวาทิน), พระ

คนธรรพวาที (จัก จักรวาทิน), หลวง

ดนตรีบรรเลง (อุ่น ดุรยชีวิน) [] , ขุน

                   (กุล เสนะวาทิน), หลวง

เพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต), พระ

เพราะสำเนียง (ศุข ศุขะวาที), หลวง

เสียงเสนาะกรรณ (หวัง นนทวาที) [] , หลวง

                        (พัน มุกตวาภัย), หลวง

สรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) ,พระ

พวงสำเนียงร้อย (นาค วัฒนวาทิน), หลวง

สร้อยสำเนียงสนธิ์ (เพิ่ม วัฒนวาทิน), หลวง

วิมลวังเวง (ช่วง โชติวาทิน), หลวง

บรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน), หลวง

บำเรอจิตจรุง (ห่อ คุปตวาทิน), ขุน

บำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตรวิลัย), หลวง

เพลินเพลงประเสริฐ (จี่ วีณิน), ขุน

เพลิดเพลงประชัน (บุตร วีณิน), ขุน

สนั่นบรรเลงกิจ (ญวน โตกาญจน), ขุน

สนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) , ขุน

สมานเสียงประจักษ์ (เถา สินธุนาคร), ขุน

สมัคเสียงประจิต (เจ๊ก ประสานศัพท์) ,หมื่น

วาทิตสรศิลป์, หมื่น

วาทินสรเสียง (วงษ์ ดูระยะประมา), หมื่น

สำเนียงชั้นเชิง (มล โกมลรัตน),ขุน

สำเริงชวนชม (กู๋ พูลผลิน), หมื่น

ภิรมย์เร้าใจ (ทำ อัมภผลิน) , หมื่น

พิไรรมยา (ภักดิ์ รัตนภาณุ), หมื่น

วีณาประจินต์, หมื่น

วีณินประณีต (จ่าง พันธุมจินดา), หมื่น

สังคีตศัพท์เสนาะ (ปลื้ม วีณิน) , ขุน

สังเคราะห์ศัพท์สอาง (แฟ้ม โกศัยเนตร), ขุน

ดุริยางค์เจนจังหวะ (แช่ม สุนทรมณฑล), หมื่น

ดุริยะเจนใจ (น่วม สามลผลิน ดุริยะเจนใจ), หมื่น

ประไพเพลงผสม (เอิบ นฤมิตร ประไพเพลงผสม), หมื่น

ประคมเพลงประสาน (ใจ นิตยผลิน), หมื่น

ชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์), หลวง

ฉลาดฆ้องวง (ส่าน ดูระยาชีวะ), ขุน

บรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์, ขุน

บรรเจิดปี่เสนาะ (เทียม สาครวิลัย), หมื่น

ไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน), หลวง

คลอขลุ่ยคล่อง, หลวง

ว่องจะเข้รับ (สิงโต กมลวาทิน), หลวง

ขับคำหวาน, หมื่น

ตันตริการเจนจิต (สาย ศศิผลิน), หมื่น

ตันตริกิจปรีชา (นาค พาทยาชีวะ), หมื่น

นารทประสานศัพท์, หมื่น

คนธรรพประสิทธิ์สาร (แตะ กาญจนผลิน), หมื่น

 

 

กับมีราชทินนามพิเศษ ที่ทรงคิดและผูกเรียงเป็นจตุสดมภ์ของแวดวงดนตรี คือ เจน จัด ถนัด ถนอม ลงท้ายด้วยดุริยางค์ทั้งสี่นาม ได้แก่

 

เจน ดุริยางค์, (ปีเตอร์ ไฟท์ วาทยกร), พระ

จัด ดุริยางค์, พระ

ถนัด ดุริยางค์, หมื่น

ถนอม ดุริยางค์, หมื่น

 

 

          การพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์แก่นักดนตรีเช่นนี้ กล่าวกันว่า เป็นพระบรมราโชบายสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์เหล่านั้นต้องระมัดระวังและวางตนให้เหมาะให้ควรแก่เกียรติยศที่ได้รับพระราชทาน ทั้งยังต้องหมั่นฝึกซ้อมให้สมแก่ราชทินนามที่ได้รับพระราชทานตามความรู้ความสามารถของตน นอกจากนั้นนักดนตรีที่ทรงภูมิความรู้อย่างเอกอันเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติยังได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศพิเศษ อาทิ

 

หลวงวาทิตบรเทศ (ม.ร.ว.ชิต เสนีวงศ์) พ.ศ. ๒๔๒๘
ขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) พ.ศ. ๒๔๕๐
หลวงประสานดุริยศัพท์(แปลกประสานศัพท์) พ.ศ. ๒๔๕๓
หลวงเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) พ.ศ. ๒๔๕๕
ขุนดนตรีบรรเลง (อุ่น ดุรยชีวิน) พ.ศ. ๒๔๕๙
พระประดิษฐ์ไพเราะ (เอวัน วาระศิริ) พ.ศ. ๒๔๖๑
พระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟท์ วาทยกร) พ.ศ. ๒๔๖๙
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (สอน ศิลปะบรรเลง) พ.ศ. ๒๔๗๒
นายมนตรี ตราโมท พ.ศ. ๒๕๑๔
 

 

 


[ ]  นักเรียนเก่าพรานหลวง มนตรี ตราโมท. "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเข้าอยู่หัวกับดนตรีไทย", มานวสาร ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔), หน้า ๔๔ - ๕๐.

[ เพลงเราเด็กในหลวง

[ ]  เพลงเราเป็นข้าในหลวง

[ "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเข้าอยู่หัวกับดนตรีไทย", มานวสาร ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔), หน้า ๔๔ - ๕๐.

[ นามเดิมของนักเรียนเก่าพรานหลวง ตราโมท

[  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวาระศิริศุภเสวี

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดับดุริยกิจ แล้วเลื่อนเป็นพระประดับดุริยกิจ ตามลำดับ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงไพเราะเสียงซอ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทฤทธิ์ประเจตน์

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |