โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๙. วิกฤต ร.ศ. ๑๑๒

กับการจัดระเบียบกองทัพสยาม ()

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทรงเครื่องเต็มยศนายพลโท นายทหารพิเศษสังกัดกองทัพบก

 

 

          การจัดระเบียบกองทัพตามที่เสนาบดีสภาได้กราบบังคมทูลเสนอแนวคิดไว้ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ นั้น ต้องรั้งรอมาเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี จึงได้เริ่มจัดวางกำลังพลตามแนวคิดของเสนาบดีสภานั้นได้ เนื่องมาจากการขาดแคลนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหายุทธปัจจัยและการสร้าง "สถานที่ให้ทหารอยู่อย่างดีแลถูกต้องตามสุขลักษณะเยี่ยงต่างประเทศเขาทำกัน"  [] อันเป็นพระบรมราโชบายสำคัญในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า "เมื่อทหารได้มีที่อยู่อาศัยเป็นสุขทั้งไพร่พลแลตัวมูลนายแล้ว ก็ย่อมเป็นกำลังอันมั่นคงแก่ประเทศชาติ"  []

 

          นอกจากนั้นการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้าเป็นทหารกองประจำการก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะในเวลานั้นการเกณฑ์คนมาเป็นทหารยังคงใช้วิธีการเกณฑ์เลกเข้ารับราชการตามแบที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "อธิบายเรื่องลักษณะการเกณฑ์แต่โบราณ" ว่า

 

          "วิธีเกณฑ์คนมาฝึกหัดเป็นทหารแต่ก่อนมา เกณฑ์ตามวิธีเกณฑ์เลขอย่างโบราณ วิธีนั้นกำหนดโดยเนื้อความซึ่งขอนำมากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งเป็นดังนี้ คือ:

 

          ๑. ชายทุกคนมีหน้าที่ต้องรับราชการตลอดจนเวลาฉกรรจ์ คือตั้งแต่อายุ ๑๘ ไปจนถึงอายุ ๖๐ ผู้ใดอายุเป็นฉกรรจ์ ต้องมาเข้าทะเบียนที่กรมพระสุรัสวดี และเจ้าพนักงานสักท้องมือเป็นสำคัญว่าเป็นคนสังกัดอยู่กรมไหนๆ ชายฉกรรจ์ถ้าไม่มาขึ้นทะเบียนสักท้องมือโดยมิได้รับอนุญาตยกเว้นตามกฎหมาย เรียกว่าคนข้อมือขาว จับได้มีโทษ และต้องสักส่งไปรับราชการในกรมที่มีงานหนัก.

 

          ๒. บรรดาไพร่พลที่สักแล้ว มีกำหนดรับราชการต่างกัน คนที่อยู่หัวเมืองชั้นในโดยรอบกรุงเทพฯ ข้างเหนือตั้งแต่ชัยนาทลงมา ข้างใต้ตั้งแต่เมืองเพ็ชรบุรีขึ้นมา ข้างตะวันออกตั้งแต่เมืองปราจีนและฉะเชิงเทราเข้ามา ข้างตะวันตกตั้งแต่เมืองราชบุรีเข้ามา ไพร่ฟ้าอยู่ในเขตเหล่านี้ต้องเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ ปีละ ๒ เดือน และยังมีการระดมปีละครั้งหนึ่ง ส่วนพลเมืองที่อยู่หัวเมืองชั้นกลางห่างกรุงฯ จะมารับราชการกรุงเทพฯ ไม่สะดวก คนอยู่ไหนก็เข้าทะเบียนสังกัดเป็นเลขคงเมืองอยู่เมืองนั้น มีหน้าที่รับราชการปีละเดือนหนึ่ง

 

          ๓. การควบคุมคน จัดเป็นกรมๆ กรมหนึ่งมีเจ้ากรม, ปลัดกรม, สมุห์บัญชี เป็นผู้บังคับบัญชา รองลงไปมีนายกอง นายหมวดอยู่ตามท้องที่ที่ไพร่พลอยู่ สำหรับดูแลและเรียกคนส่งมารับราชการ

 

          ๔. วิธีหาคนเพิ่มเติมเข้าในกรมตามวิธีเก่ามี ๓ สถาน คือสถานที่หนึ่งไพร่พลที่มีสังกัดกรมไหน ถ้ามีลูกออกมาเรียกลูกหมู่ ต้องเข้าสังกัดรับราชการในกรมนั้นอย่างหนึ่ง สถานที่สองคนข้อมือขาวอันรู้ไม่ได้ว่าเป็นลูกหมู่กรมไหน ใครเกลี้ยกล่อมได้ก็เอาเข้าสังกัดในกรมนั้น นี้อย่างหนึ่ง ส่วนที่สามลูกหมู่ หรือแม้ตัวไพร่ที่มีสังกัดในกรมที่มีหน้าที่รับราชการเบา ถ้าจะสมัครไปอยู่กรมอื่นที่มีหน้าที่ราชการหนักกว่ากัน ก็ไปได้ตามใจสมัครนี้อย่างหนึ่ง ว่าโดยเนื้อความลักษณะเกณฑ์พลตามวิธีเลข เป็นดังกล่าวมานี้

 

          แต่มีวิธีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งขึ้นแต่ครั้งกรุงเก่าตอนหลัง เป็นการผ่อนผันวิธีเกณฑ์เลข คือยอมให้ไพร่เสียเงินค่าราชการแทนตัวเข้ามารับราชการได้ ถ้าถึงเวรใครและจะไม่เข้ามาถ้าเสียเงินค่าราชการเดือนละ ๖ บาท หรือคิดรวมปีเป็นปีละ ๑๘ บาทแล้วก็ไม่ต้องเข้ามา เจ้ากรมปลัดกรมมีหน้าที่เก็บเงินค่าราชการส่งกรมพระสุรัสวดี และมีส่วนลดที่ได้แก่เจ้ากรม ปลัดกรม ตลอดจนนายกองนายหมวด เป็นผลประโยชน์ในการที่ได้ควบคุมคนนั้น เพราะเหตุที่มีวิธีผ่อนผันให้เสียเงินแทนได้ดังนี้ ไพร่พลโดยมากจึงยอมเสียเงินแทนรับราชการ ต่อที่ไม่มีเงินเสียหรือเห็นประโยชน์ที่รับจ้างผู้อื่นทำราชการแทนตัว จึงเข้ามา ด้วยเหตุนี้โดยปกติผู้ที่เข้ามารับราชการจึงมีน้อย แต่ราชการแต่ก่อนไม่ต้องการตัวคนรับราชการมากนัก ก็เป็นการเพียงพอและยังได้ตัวเงินมาใช้จ่ายราชการอีกปีละมากๆ ด้วย

 

          การที่เกณฑ์คนเข้ามาเป็นทหาร ฝึกหัดกระบวนอาวุธ อย่างทหารทุกวันนี้ ทราบว่าเริ่มมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ แลในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ จะจัดอย่างไรไม่ทราบชัด แต่ในครั้งนั้นเสมอจัดขึ้นลองดูเพียงพวกหนึ่งสองพวก ที่มาขยายการฝึกหัดทหารมีมากขึ้นนั้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เรียกว่าทหารอย่างยุโรป แต่ก็จัดเป็นทหารสำหรับรักษาพระองค์และแห่นำตามเสด็จทั้งวังหลวงวังหน้ามีไม่กี่กรม แต่ข้อสำคัญอยู่ในเรื่องวิธีเกณฑ์คนด้วยเป็นแบบติดต่อมาในรัชกาลที่ ๕ จนตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้น.

 

 

จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

เมื่อครั้งยังเป็นนายพันเอก เจ้าหมี่นไวยวรนาถ แม่ทัพปราบฮ่อ

ฉายภาพร่วมกับเจ้าราชวงศ์ (คำสุก) []  นครหลวงพระบาง

ที่กองบัญชาการปราบฮ่อ ณ เมืองซ่อน เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๘

ธงตรงกลางภาพคือ ธงจุฑาธุชธิปไตย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารธงแรกของไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗

 

 

          วิธีเกณฑ์คนมาฝึกหัดเป็นทหารเมื่อในรัชกาลที่ ๔ คือเอาเลขที่เกณฑ์อย่างโบราณดังกล่าวมาแล้วมาฝึกหัดเป็นทหาร เมื่อกำหนดว่าจะเอาคนกรมใดๆ มาเป็นทหารก็เรียกระดมคนกรมนั้นๆ เข้ามาเลือกคนฉกรรจ์ฝึกหัดกระบวนอาวุธ เมื่อฝึกหัดแล้วแบ่งคนเหล่านั้นออกเป็น ๔ ส่วนผลัดเปลี่ยนกัน เข้าเวรอยู่ประจำราชการส่วนหนึ่ง ปล่อยให้ออกเวรไปทำมาหากิน ๓ ส่วน ใครถึงเวรเข้าตัวต้องเข้ามารับราชการจะเสียเงินค่าราชการแทนไม่ได้ แต่เวลาที่อยู่รับราชการได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนของหลวง ถึงกระนั้นการที่เป็นทหารต้องฝึกหัดยืนยามและทำการต่างๆ ยังหนักกว่าไพร่หลวงที่มารับราชการฝ่ายพลเรือนเป็นอันมาก ความรู้สึกจึงมีมาแต่แรก ว่าคนกรมใดที่ต้องเกณฑ์เป็นทหารเหมือนต้องตกไปทำการหนักยิ่งกว่าไพร่หลวง จึงไม่มีผู้ใดที่อยากจะเป็นทหาร และกลัวจะต้องเป็นทหาร แต่ความกลัวเป็นทหารนั้น ที่จริงแม้แต่ในขั้นแรกกลัวอยู่แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นทหาร ครั้นเข้าเป็นทหารแล้วพอได้ความคุ้นเคย ก็สิ้นความกลัว ด้วยเหตุนี้จึงมีทหารมาได้แต่ในรัชกาลที่ ๔

 

          มาถึงในรัชกาลที่ ๕ จัดตั้งทหารเพิ่มขึ้นอีกหลายกรม จำนวนคนที่อยู่ประจำในกรมหนึ่งๆ ก็ทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ยังเกณฑ์คนอยู่ด้วยวิธีเก่า เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อเกณฑ์คนเป็นทหารมากขึ้น ความที่คนรู้สึกกลัวจะต้องเกณฑ์เป็นทหารก็ยิ่งแพร่หลายออกไป ความที่กลัวเป็นทหารในครั้งนั้น จะยกตัวอย่างที่ข้าพเจ้าได้พบและคุ้นเคยด้วยตนเองมาแสดงในที่นี้แต่เรื่องหนึ่ง ก็จะเข้าใจได้ว่าความกลัวเป็นทหารแต่ก่อนมาเป็นอย่างไร คือเมื่อข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในกรมศึกษาธิการ จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัด เริ่มจัดที่วัดมหรรณพารามในกรุงเทพฯ นี้ พอถึงวันเปิดโรงเรียน ครูไปถึงวัดมหรรณพ์ฯ ก็ได้ความว่าบิดามารดาถอนเด็กลูกศิษย์วัดไปเกือบหมด ด้วยเข้าใจว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วจะต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร การจัดตั้งโรงเรียนที่อื่นๆ ก็ได้ความลำบากอย่างนี้ กว่าจะตั้งติดได้แต่ละโรงไม่ใช่ง่ายทีเดียว กรมทหารที่ตั้งขึ้นแล้วในครั้งนั้น แม้จะหาคนเพิ่มเติมในจำนวนคนประจำการคงที่อยู่ก็ไม่ได้ ผู้คนที่รับราชการอยู่ต้องจำหน่าย ตายบ้าง, หนีบ้าง, ชราพิการบ้าง จำนวนคนลดลงเสมอ ทางที่จะได้คนมาเพิ่มเติมโดยปกติก็มีแต่ได้ลูกหมู่ของทหารเก่าอย่างหนึ่ง กับเกลี้ยกล่อมหาคนสมัครอย่างหนึ่ง แต่จำนวนคนเข้าก็ไม่เท่ากับคนออก เมื่อจำนวนทหารกรมใดออกไป ก็ต้องยกกรมอื่นซึ่งมีทะเบียนอยู่ในกรมพระสุรัสวดีมาสมทบเรียกตัวคนที่มีทะเบียนอยู่ในกรมนั้นมาฝึกหัดเป็นทหาร กรมนั้นก็สูญจากทะเบียน และเงินค่าราชการที่เคยได้จากกรมนั้นก็หมดไป ฝ่ายกรมทหารได้คนมาเพิ่มมากขึ้นคราวหนึ่งแล้วก็กลับน้อยลง เปรียบเหมือนชักทุนเรือนกินสิ้นไปเสมอ จึงรู้สึกกันมาช้านานว่าเรื่องเกณฑ์คนเป็นทหารนี้ เป็นการจำเป็นที่จะต้องคิดแก้ไข แต่จะแก้อย่างไรนั้นเป็นการยากได้ลองคิดแก้ไขกันครั้งหนึ่ง เมื่อแรกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารหน้า โดยใช้วิธีเกลี้ยกล่อมหาคนสมัคร ถ้าใครสมัครเป็นทหารแล้วถึงจะสังกัดอยู่ในกรมอื่นก็ปลดมาตามใจสมัคร และสัญญาว่าเมื่อรับราชการทหารอยู่ครบกำหนดปีแล้วจะปล่อยพ้นจากราชการทั้งปวง ครั้งนั้นแต่แรกมีคนชาวเมืองราชบุรี, เพ็ชรบูรี สมัครเข้ามาเป็นทหารมาก ทหารหน้าได้อาศัยคนพวกสมัครนี้ เป็นกำลังขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบางคราวเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพขึ้นไป แต่วิธีเกลี้ยกล่อมคนสมัครคราวนั้นสำเร็จประโยชน์ในชั่วคราวเดียว ด้วยต่อมาไม่มีใครค่อยสมัครเป็นทหาร ต่อมาได้แก้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อโปรดให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์จัดตั้งทหารเรือขึ้นตามหัวเมืองชายทะเลตะวันออก จัดครั้งนี้จะเรียกว่าเกณฑ์ชายฉกรรจ์ในหัวเมืองเหล่านั้นเป็นทหารทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะเกณฑ์บรรดาชายฉกรรจ์มาฝึกหัดๆ แล้วแบ่งเป็นเวรผลัดเปลี่ยนกันมาประจำรับราชการอยู่ที่โรงทหารในเมืองนั้นๆ การที่จัดมีผลดีได้คนมากในคราวแรก แต่ต่อมาคนก็น้อยลงด้วยไม่มีสำมโนครัวรายตัวพลเมือง และไม่มีพนักงานที่จะตรวจเรียกคนมาส่งให้ทหาร

 

 

 


[ ]  "หลักการสงคราม", อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิสรยุทธ, หน้า ๘๘.

[ ที่เดียวกัน.

[ ]  ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ พระเจ้านครหลวงพระบาง

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |