โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๘. วิกฤต ร.ศ. ๑๑๒

กับการจัดระเบียบกองทัพสยาม (๑)

 

 

ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อแสดงการสู้รบของทหารฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จากวารสารฝรั่งเศส

 

 

          ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องเสือป่ากับการป้องกันประเทศ คงต้องย้อนกลับไปศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤต ร.ศ. ๑๑๒" ซึ่งจากกรณีพิพาทคราวนั้นทำให้สยามต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนถึง ๓ ล้านฟรังก์ นอกจากนั้นฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้สยามถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ๒๕ กิโลเมตรตลอดแนวฝั่งขวาแม่น้ำโขงโดยปราศจากข้อต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในเวลานั้นสยามเพิ่งจะเริ่มจัดกองทหารอย่างใหม่ มีกำลังพลทหารบกเพียง ๗ กรม แบ่งเป็นกรมทหารราบ ๔ กรม กรมทหารปืนใหญ่ ๑ กรม กรมทหารช้าง ๑ กรม และกรมฝีพายอีก ๑ กรม ส่วนกรมทหารเรือนั้นจัดเป็น ๒ กรม คือ กรมทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี (ทหารช่างแสงเดิม) กับกรมอรสุมพล (ทหารมารีนเดิม) เมื่อเปรียบเทียบกำลังพลของกองทัพสยามในเวลานั้นกับแสนยานุภาพที่เหนือกว่าของกองทัพฝรั่งเศสแล้ว คงจะเปรียบได้กับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "วิวาหพระสมุท" ที่ว่า

 

          "ผู้ใดมีอำนาจวาสนา

ธรรมดาอะไรก็หาได้

กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้

ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ

          ใครหมัดย่อมต้องถ่อมกายายอบ

ต้องคอยหมอบคอยกราบราบเทียวเหนอ

คอยระแวงแขยงอยู่ละเออ มิได้กล้าเผยอขึ้นตึงตัง
          มีอำนาจวาสนาวาจาสิทธิ์ พูดสิ่งใดไม่ผิดเพราะฤทธิ์ขลัง
ถึงพูดผิดกำหมัดซัดลงปัง กลายเป็นพูดถูกจังไปทั้งเพ
          กำหมัดเล็กลูกเด็กก็เถียงไก้ จะส่งเสียงเถียงไปไม่ไหวเหว
ต้องขอยืมหมัดโตไวโบ๊เบ๊ เดินโอ้เอ้วางปึ่งให้ถึงดี ฯ" []

 

 

เรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งได้รับความเสียหายจากการต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสในวิกฤติ ร.ศ. ๑๑๒

 

 

          จากการที่สยามขาดความพร้อมทั้งกำลังรบและยุทโธปกรณ์ในการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติ อันเป็นที่ประจักษ์ชัดในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นี้เอง ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงเร่งรัดปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพด้านกำลังรบของกองทัพไทย และเพียงเดือนเศษภายเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ โดยเรือมกุฎราชกุมารซึ่งเป็นพระราชพาหนะไปส่งเสด็จที่สิงคโปร์นั้นยังคงปรากฏความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่ ๑ นัดที่หัวเรือ และมีรอยกระสุนปืนเล็กทั่วทั้งลำเรือ

 

          ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี กำลังประทับทรงศึกษาวิชาเบื้องต้นอยู่ที่ประเทศอังกฤษเพื่อเตรียมพระองค์ไปศึกษาวิชาทหารเรือต่อไปนั้น ทางกรุงเทพฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๗ พรรษา เกิดประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมกันกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ทรงตั้งพระรัชทายาทขึ้นใหม่เพื่อป้องกันความไม่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งมีพระเกียรติยศเป็นลำดับที่ ๒ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชการ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗

 

 

ภาพล้อแบบ Caricature ซึ่งจิตรกรชาวอังกฤษวาดขึ้น

เมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงอาสาไปรบในสงครามบัวร์ (Beor War) ที่อาฟริกาพร้อมกับนายทหารราบเบาเดอรัม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒

ในภาพทรงเครื่องแบบเต็มยศนายทหรราบเบาเดอรัม ทรงมงกุฎแบบฝรั่ง มีภาพธงช้างที่มุมบนของภาพ

อันสื่อความหมายว่า ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งสยามประเทศ และทรงเป็นนายทหารสังกัดกรมทหารราบเบาเดอรัม

 

 

          ด้วยเหตุที่ได้ทรงรับสถาปนาเป็นพระรัชทายาทนี้เอง จึงทำให้ต้องทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาจากวิชาการทหารเรือมาเป็นวิชาทหารบก และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิรสต์แล้วได้เสด็จไปประจำการในกรมทหารราบเบาเดอรัม (Duhram Light Infantry) ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่เน้นการรุกรบแบบเคลื่อนที่เร็วชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการพลเรือนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

 

          เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงรับราชการทหารเป็นนายพลเอก จเรทัพบกและราชองครักษ์พิเศษ มีพระเกียรติยศเสมอด้วยเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม ซึ่งปกครองบังคับบัญชาราชการทั้งทหารบกและทหารเรือ และต่อมายังได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นนายพลเรือเอก จเรทัพเรืออีกด้วย

 

 

ทรงฉายพร้อมด้วยพระเชษฐาและพระอนุชา ซึ่งทรงรับราชการในกรมยุทธนาธิการ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙

(จากซ้าย)

๑. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบกและราชองครักษ์พิเศษ

๒. นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ กรมยุทธนาธิการ

๓. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ

๔. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ

 

 

          ในระหว่างที่ทรงรับราชการทหารในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จไปทรงงานวางรากฐานกองทัพบกสยามตามแบบกองทัพนานาชาติร่วมกับนายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช [] ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทั้งที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการและที่วังมหานาคของผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ

 

          พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงมีพระราชดำริร่วมกันจัดขึ้นในครั้งนั้นคือ การสานต่อแนวคิดของเสนาบดีสภาที่ได้ดำริวางรูปการกองทัพบกสยาม และได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ไม่นาน ว่า

 

          "การที่จะป้องกันราชศัตรูรักษาพระราชอาณาเขตนี้ จะต้องใช้กำลังทหารบกประมาณ ๕ ส่วน ทหารเรือประมาณ ๒ ส่วน จึงจะพอเพียง ด้วยท้องที่ในพระราชอาณาเขตจะต้องป้องกันด้วยกำลังทหารบกมีโดยรอบ จะต้องใช้กำลังทหารเรือแต่ด้านเดียว

 

          แต่ส่วนกำลังทหารบกนั้น เพราะจะต้องใช้คนมากกว่าเดี๋ยวนี้ ในเวลาปกติจะต้องจัดกองทหารขึ้นทำเลภูมิลำเนาผู้คนซึ่งจะได้กะเกณฑ์มารับราชการ แลจะต้องตระเตรียมให้มีกำลังไว้ทุกทิศทุกทางให้ทันท่วงทีราชการ ควรจะจัดทหารบกเป็นหลายกองทัพต่างกองต่างมีแม่ทัพนายกองรับผิดชอบประจำอยู่ตามท้องที่ ทุกทิศแบ่งเป็นมณฑลๆ ไป ดังได้ทรงพระราชดำริไว้แต่ก่อนนั้น ส่วนกองทหารบกประจำราชการในกรุงเทพฯ ก็นับว่าเป็นกองทัพประจำมณฑลอันหนึ่ง เหมือนกับมณฑลอื่นๆ หรือเมื่อจะว่าโดยย่อ ก็ควรมุ่งหมายจัดกองทัพทหารบกทำนองมณฑลเทศาภิบาล ฉะนั้นซึ่งหัวเมืองมณฑลหนึ่ง มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบ แลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับตรวจตราคิดอ่านการพลเรือนให้เรียบร้อยดังพระราชประสงค์ เสมอกันทุกมณฑลฉันใด กองทหารมณฑลหนึ่งก็ควรมีผู้บัญชาการรับผิดชอบคนหนึ่ง แลเสนาบดีกลาโหมก็เป็นหน้าที่สำหรับตรวจตราคิดอ่านแลทำนุบำรุงการให้เรียบร้อยดังพระราชประสงค์ให้การเสมอกันทั่วทุกๆ กอง ฉันนั้น.

 

          ส่วนทหารเรือนั้น เพราะหน้าที่แคบกว่าทหารบก แต่เป็นการสุขุมยิ่งกว่าทหารบก ควรจัดเป็นแต่กองเดียว ผู้บัญชาการอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ แลอยู่ในความตรวจตราแนะนำของกระทรวงกลาโหมเหมือนกับกองทัพบก.

 

          นอกจากนี้ยังควรต้องมีพนักงานอุดหนุนราชการทหารบก ทหารเรือ คือ พนักงานทำดินปืน แลเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ พนักงานก่อสร้างเรือรบ เครื่องต่อสู้ พนักงานบำรุงพาหนะ แลพนักงานฝึกหัดวิชาทหาร เป็นต้น อันนับว่าเป็นการส่วนหนึ่งต่างหาก เหมือนกับกรมพลเรือนในการทหาร ต่างพนักงานต่างควรจะต้องมีเจ้ากรมปลัดกรมขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมเหมือนกัน การเหล่านี้ที่นับว่าเป็นกำลังทหารอันควรแลจำเป็นจะต้องมุ่งหมายจัดขึ้นให้บริบูรณ์" []

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิวาหพระสมุท, หน้า ๑๒ - ๑๓.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

[ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "หลักการสงคราม", อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิสรยุทธ , หน้า ๕๗ - ๕๘.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |