โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี (๑)

 

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กล่าวกันว่าเป็นยุคทองของแวดวงนาฏดุริยางคศิลป์ของไทยเลยทีเดียว เพราะในรัชกาลนี้พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมและสนับสนุนกิจการด้านนาฏดุริยางคศิลป์ยิ่งกว่ายุคใดๆ ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ด้วยมีพระราชดำริว่า หากไม่ทรงเร่งส่งเสริมและสนับสนุนไว้แล้ว ไม่ช้าวิชานาฏดุริงยางคิลป์อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษไทยได้สั่งสมไว้จะถึงกาลสิ้นสูญ เพราะผู้คนหันไปนิยมวัฒนธรรมต่างชาติที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาพร้องกับความศิวิไลซ์ (Civilize) จากชาติตะวันตก ทำให้ขาดผู้สืบทอดวิชาแขนงนี้

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

 

 

          แต่ในพระราชประวัตินับแต่เสด็จพระราชสมภพตราบจนเสด็จสวรรคต กลับไม่พบหลักฐานใดๆ ที่กล่าวถึง การทรงศึกษาวิชาการดนตรีรวมทั้งการแสดงเลยแม้แต่น้อย คงพบแต่ตำบอกเล่าของนักเรียนเก่าพรานหลวงมนตรี ตราโมท และนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย หม่อมราชวงศ์สลับ ลดาวัลย์ ว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์นั้น คงจะได้ทรงสดับการฝึกซ้อมดนตรีโดยเฉพาะเพลงในบทละครพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องเงาะป่า เมื่อเสด็จไปทรงเยี่ยมพระขนิษฐา คือ "สมเด็จหญิงน้อย" หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ที่ตำหนักพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ อยู่เนืองๆ และคงจะทรงเรียนรู้เรื่องดนตรีไทยด้วยพระองค์เองมาแต่บัดนั้น นอกจากนั้นยังพบหลักฐานเป็นพระฉายาลักษณ์ทรงถือรำมะนา คราวที่ทรงร่วมกับพระเชษฐาและพระอนุชาผสมวงบรรเลงดนตรีในงานเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ก่อนเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ระเทศอังกฤษไม่นานนัก

 

 

ทรงดนตรีในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖

(จากซ้าย)

๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนมไหสุริยสงขลา (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ซออู้

๒. หม่อมเจ้าดนัยวรนุช จักรพันธุ์ ฉาบ

๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ซอด้วง

๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) กลองรำมะนา

๕. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร โทน

๖. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขับร้อง

๗. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) ฉิ่ง

 

 

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

ทรงร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ ที่ประทับทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ

จัดการรื่นเริงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ณ ปาร์คเดสะโอวีฟ (Parc des Eaux - Vivres) เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร - ปอล ลาตูร์

๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) - มารี เลอรูซ์

๓. นายอาร์. อี. โอลิเวียร์ - เอมิล ยาร์เลต์

(แถวยืนจากซ้าย)

๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) - พลทหาร

๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) - นายทหาร

๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) - พลทหาร

 

 

          ตลอดระยะเวลา ๙ ปีที่เสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ นอกจากหลักฐานที่บ่งชี้ว่าได้เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร (Opera) และทรงจัดแสดงละครพูด ณ พระตำหนักที่ประทับ ทั้งยังทรงร่วมกับพระประยูรญาติจัดการแสดงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ปาคส

 

          เดวีฟ เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกแล้ว ก็พบแต่เพียงพระฉายาลักษณ์ทรงฉายร่วมกับพระประยูรญาติที่ร่วมกันแสดงดนตรีในการจัดแสดงละครพูดเรื่อง Miss Honeybone ณ พระตำหนักที่ประทับที่ตำบล Ascot ในจังหวัด Berkshire เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เท่านั้น

 

 

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)

เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ

 

 

          เมื่อเสด็จนิวัติพระนครในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ได้พบหลักฐานว่าทรงขอพระราชทานวงดนตรีวัดน้อยทองอยู่ ซึ่งเป็นมหาดเล็กเรือนนอกของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พรบรมราชินีนาถ มาฝึกสอนมหาดเล็กในพระองค์แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ประสมเป็นวงดนตรีวังสราญรมย์ โดยทรงขอครูแปลก ครูดนตรีมีชื่อจากวังบูรพาภิรมย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช มาสอนและควบคุมการฝึกซ้อมของวงดนตรีวังสราญรมย์ จนสามารถพัฒนาฝีมือถึงขั้นออกโรงประชันฝีมือกับวงดนตรีชั้นนำในยุคนั้น เช่น "วงวังบูรพาภิรมย์" "วงบางขุนพรหม" ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต และ "วงพระองค์เพ็ญ" ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

 

          ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกวงปี่พาทย์วังสราญรมย์ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยข้าหลวงเดิมไปขึ้นสังกัดในกรมพิณพาทย์หลวง ซึ่งขึ้นสังกัดในสังกัดกรมมหรสพ โปรดให้ครูแปลก ประสานศัพท์ ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนประสานดุริยศัพท์มาแต่ปลายรัชกาลก่อน เป็นเจ้ากรมพิณพาทย์หลวง พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนพรานหลวงหรือเดิมพระราชทานนามว่า โรงเรียนทหารกระบี่หลวง ขึ้นในกรมมหรสพ เพื่อเป็นสถานบ่มเพาะกุลบุตรให้มีวิชาความรู้ในวิชาสามัญพอที่จะดำรงตนอยู่ได้ในสังคม จึงโปรดให้นักเรียนพรานหลวงทุกคนได้เล่าเรียนวิชาสามัญในห้องเรียน ตกบ่ายรับประทานอาหารกลางวันแล้วจึงแยกย้ายกันไปเล่าเรียนและฝึกซ้อมวิชาโขนละครหรือดนตรีตามความถนัดของแต่ละบุคคล นักเรียนพรานหลวงที่ได้สืบทอดวิชานาฏดุริยางคศิลป์ให้คงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาตสืบต่อมา มีอาทิ นายรงคภักดี (เจียร จารุจรณ) นายอาคม สายาคม ครูนาฏศิลป์มีชื่อ นายบุญธรรม หรือ "มนตรี" ตราโมท ครูดนตรีไทย นายเอื้อ สุนทรสนาน นายนารถ ถาวรบุตร นายสมาน กาญจนผลิน นายสง่า อารัมภีร์ นักดนตรีสากลมีชื่อ ฯลฯ

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |